สำหรับการดูแลเงินทุนไหลเข้า รมว.คลัง ได้ให้อำนาจ ธปท.ในการพิจารณาออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า เช่น การเปิดเผยตัวตนของนักลงทุน(Registration) การกำหนดระยะเวลาการถือครองตราสารหนี้(Holding Period) และการกำหนดให้ต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging) รวมถึงมาตรการที่มีความเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นเครื่องมือให้กับ ธปท.ในการดูแลเงินทุนไหลเข้าอย่างเหมาะสม แต่ก่อนที่ ธปท.จะนำมาตรการใดออกมาใช้นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คลัง อีกครั้งหนึ่งก่อน เพื่อความรอบคอบและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
พร้อมกันนั้น กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องคำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่นิติบุคคลรับอนุญาต(ฉบับที่ 9) สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ได้แก่ การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศ โดยผ่อนผันให้บุคคลธรรมดาลงทุนโดยตรงในกิจการที่ต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นเดียวกับนิติบุคคล ทั้งการลงทุนในรูปหุ้นทุน และให้กู้ยืม, ผ่อนผันวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ดังนี้
ผ่อนผันให้ผู้ลงทุนสถาบันลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ รวมทั้งตราสารสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกขายในประเทศตามที่กำหนดได้ไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ผู้ลงทุนสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทหลักทรัพย์ยังต้องขอจัดสรรวงเงินลงทุนจาก ก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต.จะจัดสรรจากวงเงินที่ ธปท.อนุมัติจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับผู้ลงทุนสถาบันประเภทอื่นจะสามารถลงทุนได้ตามวงเงินที่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ลงทุนและคณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ลงทุนกำหนด
ผ่อนผันให้บุคคลรายย่อยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ รวมทั้งตราสารสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกขายในประเทศตามที่กำหนดได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรรจาก ก.ล.ต.
ผ่อนผันให้บุคคลในประเทศซื้อแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์และนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเพื่อรอชำระภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศได้ตามจำนวนของภาระผูกพันดังกล่าว
ขยายขอบเขตการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือเดียวกันที่ต่างประเทศในลักษณะที่เป็นการให้สวัสดิการแก่พนักงานให้รวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น โดยให้ทำได้ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อรายต่อปี เท่าปัจจุบัน
หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศดังกล่าวแล้ว ธปท.ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจะได้พิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น