เงินบาทปิด 30.46/47 อ่อนค่าต่อเนื่อง พรุ่งนี้มีลุ้นแตะ 30.50-30.60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 3, 2013 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 30.46/47 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 30.36/38 บาท/ดอลลาร์ ตามแรงซื้อแรงขายในตลาด โดยระหว่างวันเงินบาทไปทำไฮที่ระดับ 30.49 บาท/ดอลลาร์
"เงินบาทอ่อนค่าตามแรงซื้อแรงขายของตลาด" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 30.30-30.60 บาท/ดอลลาร์

"ต้องดูว่าพรุ่งนี้จะทะลุแนวจิตวิทยาที่ 30.50-30.60 บาท/ดอลลาร์หรือไม่ เพราะตอนนี้กลับมาอ่อนค่าจากตอนที่แข็งค่าสุดเกือบ 2 บาทแล้ว" นักบริหารเงิน กล่าว

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 100.32/33 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 100.60/70 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3027/3028 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.3000 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,539.26 จุด ลดลง 22.81 จุด, -1.46% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 55,526.98 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 5,753.03 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และเพื่อให้ ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลเงินทุนไหลเข้าได้อย่างเหมาะสม
  • นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน พ.ค.56 อยู่ที่ 105.15 เพิ่มขึ้น 2.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.24% จากเดือน เม.ย.56 โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่ตัวเลข CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.56) เพิ่มขึ้น 2.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ 2.8-3.4% เช่นเดิม
  • ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคงประมาณการเงินเฟ้อปี 56 ไว้ตามเดิมที่ร้อยละ 2.6(กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.4-3.0) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.4(กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.2-1.7) โดยประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงช่วงท้ายๆ ไตรมาส 3/2556 ก่อนจะขยับขึ้นในช่วงปลายปี 2556 โดยสถานการณ์ที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 คือ การขยับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภครายเดือนตามภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แม้แรงหนุนราคาสินค้าในหมวดอาหารสดจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติตามสภาพดินฟ้าอากาศก็ตาม
  • นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะของญี่ปุ่น หวังว่าการสื่อสารระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) และตลาดหุ้นจะช่วยจัดการกับความผันผวนของตลาด หลังจากที่ดัชนีนิกเกอิร่วงลงกว่า 2% แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน นอกจากนี้ยังมีความมุ่งมั่นที่จะผ่อนคลายนโยบายต่อไป ขณะที่พยายามจะทำให้เศรษฐกิจพ้นจากความผันผวน โดยจะดำเนินกลยุทธ์ด้านการขยายตัวหรือลูกศรลูกที่ 3 ของนโยบายเศรษฐกิจ 3 ด้านของตนเองที่รู้จักกันในชื่อ อาเบะโนมิคส์
  • สมาคมผู้ค้ารถยนต์ของญี่ปุ่น เผยยอดขายรถยนต์ใหม่ซึ่งไม่รวมรถยนต์ขนาดเล็กปรับตัวลง 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 219,099 คันในเดือน พ.ค.56 หลังจากยอดขายในเดือน เม.ย.56 ได้เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เมื่อเทียบรายปี
  • มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศได้ประกาศทบทวนเพื่อจะลดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL)(เงินฝาก Baa1 STA(m) BFSR C-/BCA baa2 stable), ธนาคารกสิกรไทย(KBAN)(เงินฝาก Baa1 STA(m), BFSR D+/BCA baa3 stable) และธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) (เงินฝาก Baa1 STA(m), BFSR C-/BCA baa2 stable)
  • มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุในรายงาน "แนวโน้มเครดิตของมูดีส์" ฉบับวันที่ 3 มิ.ย.56 ว่า ความเสียหายในช่วงที่ผ่านมาจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554-2555 และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปนั้น จะทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นที่รัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ
  • ผลการสำรวจชี้ราคาบ้านของจีนยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน พ.ค.56 แม้ว่ายอดการทำธุรกรรมจะร่วงลงก็ตาม โดยราคาบ้านใหม่เฉลี่ยในเมือง 100 เมืองนั้นเพิ่มขึ้น 0.81% จากระดับเดือน เม.ย.แตะ 10,180 หยวนต่อตารางเมตรในเดือน พ.ค. ซึ่งถือเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมา 12 เดือน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของสเปนในเดือน พ.ค.56 เพิ่มขึ้นแตะ 48.1 จาก 44.7 ในเดือน เม.ย.56 แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 ชี้ว่ากิจกรรมการผลิตของสเปนยังคงหดตัว แต่เป็นไปในอัตราที่ช้าลง และยังเป็นการหดตัวต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้ว
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของอิตาลีในเดือน พ.ค.56 ปรับขึ้นแตะ 47.3 จาก 45.5 ในเดือน เม.ย.56 แต่กิจกรรมภาคการผลิตของอิตาลียังคงหดตัวต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากดัชนี PMI ที่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของเยอรมนีในเดือน พ.ค.56 ปรับขึ้นมาที่ 49.4 จาก 48.1 ในเดือน เม.ย.ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของเยอรมนีมีทิศทางที่กระเตื้องขึ้น แม้ว่ายังคงอยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของฝรั่งเศสในเดือน พ.ค.56 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 46.4 เทียบกับ 44.4 ในเดือน เม.ย.56 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการหดตัวในภาคการผลิตของฝรั่งเศสได้ผ่อนคลายลง
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงร่วงลง 140 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 13,020 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,408.4 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 15.14 ดอลลาร์สหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ