คนอีสานพอใจแก้ปัญหาราคาข้าว-ยาง แต่ไม่พอใจการแก้ปัญหาราคาพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2013 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ความเห็นชาวอีสาน ต่อการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า” โดยผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาราคาข้าว-ยางพารา แต่ไม่พอใจการแก้ปัญหาราคาพลังงาน ผิดหวังต่อนโยบายลดค่าครองชีพ และเชื่อว่าค่าแรง 300 บาทมีส่วนทำให้ของแพง

ด้านความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาราคาข้าวของรัฐบาล ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.6 รู้สึกพอใจ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุว่า เพราะชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น มีที่รองรับการขายข้าวของชาวนา และสามารถจำหน่ายได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนร้อยละ 38.4 รู้สึกไม่พอใจ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เพราะเชื่อว่ามีการทุจริตในกระบวนการ ชาวนาไม่มาไถ่ข้าวคืน เป็นการทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนเห็นว่าราคารับซื้อข้าวยังต่ำอยู่ ต้องการให้เพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

ส่วนความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.2 รู้สึกพอใจ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเพราะเป็นการทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่วนร้อยละ 40.8 รู้สึกไม่พึงพอใจ โดยให้เหตุผลว่า รู้สึกว่าราคายังอยู่ในระดับต่ำ ต้องการให้ราคายางพาราดีกว่านี้ และบางส่วนเห็นว่า การที่แทรกแซงราคายางให้สูงขึ้น จะทำให้เกิดปัญหายางล้นตลาดในอนาคต

สำหรับความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซ และ ไฟฟ้า เป็นต้น) ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.5 รู้สึกไม่พอใจ โดยให้เหตุผลว่า ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพอย่างมาก รัฐไม่ได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาราคาพลังงาน โดยบางส่วนเชื่อว่า ราคาในปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนอีกร้อยละ 46.5 รู้สึกพอใจต่อการแก้ปัญหาราคาพลังงานของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลได้พยายามตรึงราคาไว้ระดับหนึ่งแล้ว และแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ต่อราคาไข่ไก่ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เห็นว่ามีสาเหตุมากจากการจัดการของรัฐบาล และราคาอาหารสัตว์ ร้อยละ 40.4 และ 39.5 ตามลำดับ อีกร้อยละ 19.0 เห็นว่ามีสาเหตุจากภูมิอากาศ/ฤดูกาล และร้อยละ 1.1 เห็นว่ามาจากสาเหตุอื่นๆ

สำหรับความเห็นของชาวอีสาน ต่อกรณีทีรัฐบาลเคยให้คำมั่นเมื่อหาเสียงว่าจะกระชากค่าครองชีพลงมา แต่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้นในปัจจุบัน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 67.8 รู้สึกค่อนข้างผิดหวัง ร้อยละ 27.8 รู้สึกผิดหวังอย่างมาก มีเพียงร้อยละ 4.5 ที่รู้สึกพอใจหรือไม่รู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาล ซึ่งผู้ที่ไม่ผิดหวังได้ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจโดยรวม และบางส่วนไม่ได้คาดหวังจากนโยบายจึงมองว่าการไม่สามารถทำตามคำมั่นได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา

สำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท อีสานโพลได้สอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อผลกระทบของนโยบายค่าแรง 300 บาทว่า มีส่วนทำให้ต้นทุนของสินค้าและเพิ่มสูงขึ้น จนผู้ประกอบการต้องปรับราคาสูงขึ้นหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.3 เห็นว่าค่อนข้างมีส่วน และร้อยละ 31.2 เห็นว่ามีส่วนอย่างมาก มีเพียงร้อยละ 5.5 ที่เห็นว่าไม่มีส่วนเลย และอีกร้อยละ 5.0 ไม่ทราบ/ไม่มีความเห็น ทั้งนี้ อีสานโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าโดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ