สำหรับการสนับสนุนงบประมาณร่วมกันเพื่อพยุงราคายางในครั้งนี้ จะดำเนินการในลักษณะใดนั้นจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้แล้วภาระในการแทรกแซงราคายางพาราของรัฐบาลก็จะหมดไป และการใช้เงินของเอกชนก็จะน้อยมากเพียง 210 ล้านบาท และรับซื้อยางพาราได้สูงมากกว่า 42,000 ตัน ซึ่งมากกว่าเงินที่รัฐบาลให้นำมาให้พยุงราคากว่า 20,000 ล้านบาท และราคาที่เกษตรกรจะขายได้ก็จะสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เพราะที่ผ่านมาการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาระของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น
"ขณะนี้ยางในสต๊อกเก่าของรัฐบาล ต้องดูสถานการณ์ด้านของราคาก่อน แม้ว่าจะมีต่างประเทศติดต่อเข้ามาจำนวนมากเพื่อขอซื้อหลายราย แต่รัฐบาลคงยังไม่ขาย เพื่อมั่นใจว่าราคาน่าจะขยับตัวสูงขึ้นได้ จากขณะนี้ราคาในตลาดส่งออกอยู่ที่ 90.60 บาท/กก. ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่ต้องใช้เงินของรัฐบาลอุดหนุนจำนวนหลายหมื่นล้าน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ราคาขึ้นไปสู่เป้าหมายที่ตนเองการได้ แต่ทำได้แค่ไม่ให้ราคายางตกต่ำลงไปมาก ที่ผ่านมาพยายามทำให้ยางราคาสูง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น เมื่อมีภาคเอกชนมาร่วมมือกับภาครัฐ เชื่อว่าราคายางพาราน่าจะขยับสูงขึ้นสู่เป้าหมายที่วางไว้ และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางให้มีค่าสูงขึ้น" นายยุทธพงศ์ กล่าว
อนึ่ง คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางร่วมกับ 7 หน่วยงานเอกชน ได้แก่ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และ บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) บมจ. ไทยฮั้วยางพารา (STHAI) บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) บมจ.ไทย รับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) หรือ TRUBB บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด และ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด เพื่อดำเนินการผลักดันราคายางให้สูงขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ราคา 110 บาท/กก.นั้น
ด้านนายอำนวย ปะติเส ผู้อำนวยการศูนย์บริหารโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือกับภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมศักยภาพยางพาราให้มากขึ้นแล้ว ยังจะร่วมพิจารณาถึงแนวโน้มราคายาง และกำหนดทิศทางยางพาราในอนาคต โดยใช้กลไกตลาดภายในประเทศผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) และมีการประสานขอความร่วมมือกับ บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) ให้มาช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในตลาดต่างประเทศด้วย
ขณะเดียวกันยังมีการทำแผนรับมือกับราคายางที่อาจผันผวนตามปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะตลาดโลก การซื้อขาย ราคาน้ำมันตลาดโลกและที่สำคัญที่ค่าเงินบาท เตรียมมาตรการรองรับไว้เมื่อราคายางมาถึงจุดใดจุดหนึ่งพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือ และยังมีการทราบถึงแนวโน้มว่าราคายางมีทิศทางไปในทางใดแต่ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ทั้งหมดต่อเมื่อเหตุการณนั้นยังไม่เกิดขึ้นด้วย