วิจัยกสิกรฯ ชี้ช่องผู้ประกอบการข้าวไทยขยายลงทุนในเมียนมาร์ หลังผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2013 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ของผู้ประกอบการในธุรกิจข้าวไทย โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตข้าว เป็นหนึ่งในโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม ขณะที่การหาพันธมิตร/คู่ค้าท้องถิ่นร่วมลงทุน จะยังเป็นรูปแบบที่เหมาะสม ณ ขณะนี้

ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและต้องการเข้าไปลงทุนธุรกิจข้าวในเมียนมาร์ อาจเข้าไปในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตข้าว โดยพิจารณาแนวทางการรวมกลุ่มไปข้างหลัง (Backward Integration) เช่น ผู้ส่งออกอาจพิจารณาการไปตั้งโรงสี และรวมตัวกับผู้ขายวัตถุดิบ เพื่อควบคุมปัจจัยการผลิต เป็นต้น

แม้ปัจจุบัน เมียนมาร์ยังมีการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมคือ เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ โดยเน้นใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรน้อย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากความพยายามในการเร่งพัฒนาการผลิตข้าวสู่ระบบที่เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น คงจะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาร์น่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ทางการเมียนมาร์กำหนดไว้ที่ 2 ล้านตันในปี 2556 และ 3 ล้านตันในปี 2558 โดยไม่ยากมากนัก (หากไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่จะกระทบต่อผลผลิตข้าว อาทิ ภัยธรรมชาติที่รุนแรง หลังจากที่การส่งออกข้าวของเมียนมาร์ ทำได้ตามเป้าหมายที่ 1.5 ล้านตันแล้วในปีงบประมาณ 2555/2556) และคาดว่าในอนาคต เมียนมาร์อาจก้าวขึ้นมามีบทบาทติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักในโลก ทัดเทียมกับอินเดีย เวียดนาม และไทย ด้วยปริมาณการส่งออกข้าวไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัน ในอีก 10 ปี

ขณะที่ นโยบายเปิดประเทศที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชากรชาวเมียนมาร์ ทำให้มีแนวโน้มที่นานาประเทศจะสนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนาระบบการผลิตในธุรกิจข้าวของเมียนมาร์ให้ก้าวหน้ามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นลงทุนตั้งโรงสีข้าวและโรงงานแปรรูปข้าวขนาดใหญ่รวม 3 แห่ง และยังมีแผนปลูกข้าวและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เมียนมาร์, สหรัฐอเมริกา กำลังสำรวจลู่ทางการลงทุนวิจัยด้านพันธุ์ข้าว, จีน จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม และลงทุนปลูกข้าวในเมียนมาร์ ตลอดจนสิงคโปร์ ลงทุนปลูกข้าว โดยร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นในเมียนมาร์ นอกจากนี้ ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2556 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวเมียนมาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี หลังจากเมียนมาร์ชนะการประมูลข้าวด้วยจำนวน 5,000 ตัน ในราคาตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณของเมียนมาร์ในความต้องการกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักของโลกอีกครั้งหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลงทุนโรงสีในเมียนมาร์นับว่ามีลู่ทางที่พอเป็นไปได้ โดยใช้เมียนมาร์เป็นฐานการส่งออกข้าว ในแง่การเข้าไปลงทุนร่วมพัฒนาโรงสีข้าว โดยไทยเอาเทคโนโลยีไปเพิ่มความสามารถให้เมียนมาร์ ซึ่งสอดรับกับความต้องการของเมียนมาร์เองที่ต้องการโรงสีที่ทันสมัย เนื่องจากปัจจุบันโรงสีกว่าร้อยละ 80 ในเมียนมาร์ยังเป็นโรงสีขนาดเล็กที่มีเทคโนโลยีการผลิตต่ำ ส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่อาจมีข้าวเมล็ดหักปริมาณสูง และอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยคือ ผู้ค้าข้าว (Trader) ในเมียนมาร์เพื่อส่งออก นอกจากนี้ ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ก็คาดว่าจะเติบโตตามการเร่งฟื้นฟูธุรกิจข้าวในเมียนมาร์ด้วย เช่น ปุ๋ย และเครื่องจักรกลทางการเกษตร จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วยเช่นกัน

แม้ในระยะสั้น ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่มาก ทั้งประเด็นกระบวนการทางกฎหมาย อาทิ ขั้นตอนการจัดตั้งโรงสีในเมียนมาร์ค่อนข้างยุ่งยาก คือ การจัดตั้งโรงสีข้าวจะต้องขออนุญาตจากภาครัฐในหลายพื้นที่ และหลายกระทรวง ความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยระบบชลประทานยังไม่ทั่วถึง เส้นทางคมนาคมหลายแห่งยังมีสภาพทรุดโทรม และที่สำคัญคือ ระบบไฟฟ้า ที่ยังมีไม่เพียงพอ อาจติดๆ ดับๆ ส่งผลต่อการผลิตข้าวที่ไม่ต่อเนื่อง เป็นต้น แต่ในอนาคตหากปัจจัยพื้นฐานต่างๆเหล่านี้พัฒนาไปมากขึ้น พร้อมๆกับการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติของเมียนมาร์เพื่อประโยชน์ของเมียนมาร์ การพิจารณาแนวทางขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภาวะที่ปัจจุบันธุรกิจข้าวไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาท ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ