เงินบาทปิดตลาด 30.53/55 อ่อนค่าตามแรงซื้อดอลล์-หุ้นร่วงหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2013 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 30.53/55 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 30.45/47 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำไฮที่ระดับ 30.60 บาท/ดอลลาร์
"ระหว่างวันเงินบาทไปแตะที่ระดับเคยอ่อนค่าสุดเมื่อช่วงต้นปี" นักบริหารเงิน กล่าว

นักลงทุนกลับมาเทขายเงินบาทซื้อดอลลาร์ และเริ่มมีแรงไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นการย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น หลังจากเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาเยอะมาก

"ตอนนี้มาตรการของแบงก์ชาติคงไม่จำเป็นแล้ว เพราะบาทอ่อนค่ามาเยอะแล้ว" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในวันพรุ่งนี้ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยมองกรอบไว้ระหว่าง 30.40-30.80 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 99.63/65 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 100.16/18 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3064/3066 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3073/3074 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,522.66 จุด ลดลง 32.95 จุด หรือ -2.12% โดยมีมูลค่าซื้อขาย 50,717.88 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,125.87 ลบ.(SET+MAI)
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงลดลง 40 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 13,050 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,411.65 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 4.33 ดอลลาร์สหรัฐ
  • เชนยินแอนด์หวังเกา ซิเคียวริตี้ส์ ประเมินว่า ธนาคารรายใหญ่ 4 อันดับแรกของจีน คือ ธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า, ธนาคารไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์, ธนาคารอินดัลเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า และ ธนาคารอะกริคัลเจอร์รัล แบงก์ ออฟ ไชน่า มียอดปล่อยกู้ใหม่ในรูปสกุลหยวนรวมกันที่ 2.08 แสนล้านหยวนในเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของยอดปล่อยเงินกู้รายเดือนในปีนี้ และยังได้ปรับลดคาดการณ์ยอดปล่อยเงินกู้ใหม่ในเดือน พ.ค.ของจีนลงเหลือ 7 แสนล้านหยวนจาก 9 แสนล้านหยวน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ด้านเครดิตที่ลดลงจากภาคเศรษฐกิจภายในประเทศที่แท้จริง
  • องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ(OECD) เผยอัตราเงินเฟ้อรายปีในกลุ่มประเทศ OECD ชะลอตัวแตะระดับ 1.3% ในเดือน เม.ย.ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลง และยังเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.52
  • นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงกลยุทธ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในวันนี้ โดยให้คำมั่นสัญญาณว่าจะกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านล้านเยนภายในเวลา 10 ปี และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศขึ้นอีก 1.5 ล้านเยนในระยะเวลา 10 ปี
  • ตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มจะเปิดตลาดร่วงลงในวันนี้ เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรอย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือน ก.ย.นี้
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนในเดือน พ.ค.ปรับตัวขึ้นแตะ 47.7 จาก 46.9 ในเดือน เม.ย. แต่ดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจในภูมิภาคยังอยู่ในภาวะหดตัว
  • ผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของสเปนในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.3 จาก 44.4 ในเดือนก่อนหน้า แต่ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของสเปนยังอยู่ในภาวะหดตัว ข้อมูลภาคบริการในวันนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนี PMI ภาคการผลิตที่มีการเปิดเผยไปเมื่อต้นสัปดาห์ ซึ่งเพิ่มขึ้นแตะ 48.1 จาก 44.7 ในเดือน เม.ย. โดยเป็นการหดตัวในอัตราที่ช้าลงเช่นกัน
  • ผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของอิตาลีในเดือน พ.ค.ลดลงแตะ 46.5 จาก 47.0 ในเดือน เม.ย.ซึ่งแสดงถึงภาวะที่ย่ำแย่ลงของภาคบริการ โดยดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคบริการหดตัวลงต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับ 2 ปีแล้ว ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี(Istat) เปิดเผยเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าอัตราว่างงานของอิตาลีในเดือน เม.ย.พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12% โดยจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.83 ล้านคน
  • ผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของฝรั่งเศสเดือน พ.ค.ปรับขึ้นแตะ 44.6 จาก 44.3 ในเดือน เม.ย. แม้ดัชนี PMI ภาคบริการปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่แล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งแสดงถึงภาวะหดตัว โดยก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจฝรั่งเศสในปี 2556 และ 2557 โดยคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฝรั่งเศสจะหดตัวลง 0.2% ในปีนี้ และขยายตัว 0.8% ในปีหน้า
  • ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของเยอรมนีเดือน พ.ค.ขยับขึ้นเล็กน้อยแตะที่ระดับ 49.7 จาก 49.6 ในเดือน เม.ย. แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนดัชนี PMI รวมทั้งภาคบริการและภาคการผลิตของเยอรมนี ขยายตัวแตะ 50.2 ในเดือน พ.ค.หลังจากหดตัวที่ระดับ 49.2 ในเดือน เม.ย.
  • ผลสำรวจเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของอังกฤษในเดือน พ.ค.พุ่งขึ้นแตะ 54.9 จาก 52.9 ในเดือน เม.ย. โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของกิจกรรมในภาคบริการ ซึ่งมีการปรับตัวโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ซึ่งยังคงอยู่ในภาวะหดตัว แม้ว่าเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท รายงานว่ายอดค้าปลีกของยูโรโซนในเดือน เม.ย.ลดลง 0.5% จากเดือน มี.ค. และหดตัวลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายซื้อของที่ซบเซา ขณะที่ผู้บริโภคในภูมิภาคที่ใช้เงินสกุลยูโรชะลอการซื้อ ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านการจ้างงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ