"วันที่ 27 มิ.ย. เราจะแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ เดิมเรามองไว้ที่ 5% แต่ ณ ตอนนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่ ขอรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกหอการค้าฯ ก่อน สัญญาณที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด คืออยู่ที่ระดับ 4.0-4.5% เป็นไปได้สูง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ นั้น ขณะนี้ยังมองว่าการส่งออกไทยจะเติบโตได้ 5-7% อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยที่ 2.4-2.7% อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 29.50-30.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลยังตรึงราคาพลังงานทุกชนิดไว้จนถึงสิ้นปี
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สาเหตุที่อาจต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากเดิม เนื่องจากผู้บริโภคยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ไม่สดใสนัก การจับจ่ายใช้สอยในสินค้าประเภทบ้าน, รถยนต์ และการท่องเที่ยวเริ่มย่อตัวลง ประชาชนมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าการบริโภคน่าจะชะลอตัวลงไปจนถึงต้นไตรมาส 3
ขณะเดียวกันประชาชนยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ หลังจากที่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/56 ชะลอตัวเหลือเพียง 5.3% ซึ่งต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 6-7% ดังนั้นจึงทำให้ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายสำนักเริ่มทยอยปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือต่ำกว่า 5%
นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนพ.ค.56 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงมาอยู่ที่ 0.9% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป(CPI) อยู่ที่ 2.3% ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศเริ่มแผ่วลง สอดคล้องกับสถานการณ์ของกำลังซื้อในต่างประเทศที่ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น
"ตอนนี้เริ่มชี้ให้เห็นว่ามีสัญญาณเงินฝืดในเงินเฟ้อ ซึ่งมันคือภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงพร้อมๆ กับเงินเฟ้อทั่วไปที่ลงมาอยู่ระดับ 2% ต้นๆ ชี้ให้เห็นว่ากำลังซื้อแผ่วลง และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่แผ่วลงทั้งโลก นั่นหมายถึงระบบ supply chain โลก หรือกำลังซื้อปลายทาง คือ สหรัฐ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นไม่สดใส ดันให้ทั้งกระบวนการผลิต กระบวนการส่งออกของเราให้ต่ำลงมากเหลือ 2.9% ในเม.ย. ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง เงินเฟ้อถูกกดทั่วโลก และยังไม่มีสัญญาณฟื้น" นายธนวรรธน์ กล่าว