ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมพ.ค.อยู่ที่ 72.8 ลดลงจากเม.ย. 73.9 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำพ.ค.อยู่ที่ 74.4 ลดลงจาก 76.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100.4 ลดลงจาก 101.8
"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากความกังวลเรื่องการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในอนาคต" นายธนวรรธน์ กล่าว
โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/56 ชะลอตัวลงเหลือ 5.3% และปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 56 เหลือ 4.2-5.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.5%
ปัจจัยต่อมา คือ การส่งออกเดือนเม.ย.56 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่าที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ราคาพืชผลการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์การเมืองไทยและปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ รวมทั้ง ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ย 0.25%, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมาเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และดัชนียังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวในระดับต่ำจากการส่งออกหลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมาจนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคต และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและรายได้ของผู้บริโภคในอนาคต
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่า การบริโภคของประชาชนจะชะลอตัวลงจนถึงต้นไตรมาส 3 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงพยุงสำคัญไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก