(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เล็งหั่น GDP ปี 56 เหลือไม่ถึง 5% กำลังซื้อในปท.เริ่มแผ่ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 6, 2013 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 56 ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะปรับลดลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 5% ลงมาเหลืออยู่ที่ 4.0-4.5% ซึ่งเป็นระดับที่มีความเป็นไปได้มากสุด แต่อย่างไรก็ดี จะต้องรอตัวเลขที่ชัดเจนในช่วงปลายเดือนนี้ก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลต่างๆ จากสมาชิกของหอการค้าไทย
"วันที่ 27 มิ.ย. เราจะแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ เดิมเรามองไว้ที่ 5% แต่ ณ ตอนนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่ ขอรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกหอการค้าฯ ก่อน สัญญาณที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด คืออยู่ที่ระดับ 4.0-4.5% เป็นไปได้สูง" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ นั้น ขณะนี้ยังมองว่าการส่งออกไทยจะเติบโตได้ 5-7% อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยที่ 2.4-2.7% อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 29.50-30.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลยังตรึงราคาพลังงานทุกชนิดไว้จนถึงสิ้นปี

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สาเหตุที่อาจต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากเดิม เนื่องจากผู้บริโภคยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ไม่สดใสนัก การจับจ่ายใช้สอยในสินค้าประเภทบ้าน, รถยนต์ และการท่องเที่ยวเริ่มย่อตัวลง ประชาชนมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าการบริโภคน่าจะชะลอตัวลงไปจนถึงต้นไตรมาส 3

ขณะเดียวกันประชาชนยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ หลังจากที่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/56 ชะลอตัวเหลือเพียง 5.3% ซึ่งต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 6-7% ดังนั้นจึงทำให้ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายสำนักเริ่มทยอยปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือต่ำกว่า 5%

นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนพ.ค.56 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงมาอยู่ที่ 0.9% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป(CPI) อยู่ที่ 2.3% ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศเริ่มแผ่วลง สอดคล้องกับสถานการณ์ของกำลังซื้อในต่างประเทศที่ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น

"ตอนนี้เริ่มชี้ให้เห็นว่ามีสัญญาณเงินฝืดในเงินเฟ้อ ซึ่งมันคือภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงพร้อมๆ กับเงินเฟ้อทั่วไปที่ลงมาอยู่ระดับ 2% ต้นๆ ชี้ให้เห็นว่ากำลังซื้อแผ่วลง และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่แผ่วลงทั้งโลก นั่นหมายถึงระบบ supply chain โลก หรือกำลังซื้อปลายทาง คือ สหรัฐ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นไม่สดใส ดันให้ทั้งกระบวนการผลิต กระบวนการส่งออกของเราให้ต่ำลงมากเหลือ 2.9% ในเม.ย. ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง เงินเฟ้อถูกกดทั่วโลก และยังไม่มีสัญญาณฟื้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อาจจะปรับลดเครดิตประเทศไทยลง หลังแสดงความกังวลต่อผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในปี 54-55 ที่สูงถึงระดับ 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยได้นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า การปรับลดเครดิตของมูดี้ส์ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ หากเป็นการปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มอันดับเครดิตจาก Stable มาเป็น Negative ก็จะมีผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศไทยไม่มากนัก เป็นเพียงผลกระทบในแง่ของภาพลักษณ์

ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอาจจะถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มองว่าไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะโครงการลงทุนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านลบ. และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการกู้เงินจากภายในประเทศ

"ถ้าลด outlook จะไม่กระเทือนมาก ผลกระทบทางอ้อมในเชิงของภาพลักษณ์อาจจะลดลงไปบ้างว่าไทยมีความไม่นิ่งทางเศรษฐกิจ และมีความสุ่มเสี่ยงทางด้านการคลังในการชำระคืน แต่ระดับความน่าลงทุนยังอยู่ในระดับเดิมที่ Baa1" นายธนวรรธน์ กล่าว

แต่ทั้งนี้ หากมูดี้ส์ปรับลดเครดิตประเทศไทยลงจากระดับ Baa1 มาอยู่ที่ Baa2 แสดงว่ามีความกังวลต่อเศรษฐกิจของไทยในระดับสูง และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในเชิงลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางตรงหรือการลงทุนในหุ้นที่ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินอาจจะสูงขึ้นกว่ากรณีการปรับเพียง outlook เพราะโดยรวมแล้วประเทศไทยยังอยู่ในอันดับของประเทศที่มีความน่าลงทุนในระดับสูง อย่างไรก็ดี กรณีนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนที่ไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศที่ต้องมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เชื่อว่าคงเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.25% และจะทำให้ภาคเอกชนไทยมีแต้มต่อในการแข่งขันน้อยลง และสุดท้ายอาจต้องหาทางออกด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าภายในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ