"การเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้านั้นใช้ระยะเวลาในการทดแทนกว่า 7 ปี ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันจะทำให้เราต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศทำให้มีรายจ่ายที่สูง และมีความเสี่ยงด้านการพึ่งพาด้านพลังงาน" นายมนูญ กล่าว
นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ โดยเฉพาะราคาแอลพีจี เนื่องจากราคาปัจจุบันกระตุ้นให้มีการใช้แอลพีจีที่สูงขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดเดียวมากเกินไป ส่วนการเก็บภาษีสรรมิตน้ำมันดีเซลนั้นเห็นควรที่จะต้องปรับเพิ่มเพื่อให้ราคาพลังงานเป็นไปตามความจริง ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า ธุรกิจพลังงานในประเทศไทยมีการผูกขาดมาตั้งแต่ต้น ทำให้ตลาดไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี เนื่องจากการกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)
ขณะเดียวกันเอกชนที่ทำธุรกิจด้านพลังงานก็ใช้หลักการต้นทุนบวกกำไร ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องประหยัดต้นทุน เพราะสามารถผลักภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้ โดยจะเห็นได้จากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีความเท่าเทียม เพราะภาคปิโตรเคมีจะจ่ายเงินสนับสนุนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนภาคครัวเรือนจ่าย 1.43 บาท ขณะที่ภาคขนส่งต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กิโลกรัมละ 4.47 บาท และภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระถึงกิโลกรัมละ 12.12 บาท ดังนั้นควรแก้ไขการผูกขาดด้วยการแยกธุรกิจท่อก๊าซกับธุรกิจอื่นออกจากกันและเป็นอิสระ