สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.รูดลง 32.8 ดอลลาร์ หรือ 2.32% ปิดที่ 1,383 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนไหวในกรอบ 1,377.10 - 1,417.70 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค.ทรุดลง 96.4 เซนต์ หรือ 4.25% ปิดที่ 21.743 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 5.05 เซนต์ หรือ 1.05% ปิดที่ 3.2685 ดอลลาร์/ปอนด์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 26.7 ดอลลาร์ หรือ 1.75% ปิดที่ 1,502.6 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย.ปิดที่ 761.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 1.1 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 149,000 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกปรับทบทวนลงจาก 165,000 ตำแหน่งในรายงานก่อนหน้านี้ ส่วนอัตราว่างงานขยับขึ้นแตะ 7.6% ในเดือนพ.ค. จาก 7.5% ในเดือนก่อนหน้า
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการจ้างงานเดือนพ.ค.จะเพิ่มขึ้นเพียงราวๆ 165,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ 7.5%
การจ้างงานที่เพิ่มสูงเกินคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดี ได้ทำให้นักลงทุนกล้าเสี่ยงมากขึ้นและหันไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น แทนทองคำซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ ข้อมูลที่เป็นบวกดังกล่าวยังทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทองคำ เพราะทำให้ราคาทองที่ซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์ มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ
ขณะเดียวกันการกล่าวแสดงความเห็นของนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC ก็ยิ่งกดดันราคาทองให้ดิ่งหนักลงไปอีก โดยราคาทองร่วงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.ในช่วงของการซื้อขาย หลังจากที่อดีตประธานเฟดกล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐควรเริ่มเดินหน้าชะลอโครงการซื้อพันธบัตร
โดยปกติแล้ว ทองคำจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเงิน เนื่องจากนักลงทุนจะเข้าซื้อโลหะมีค่า เพราะวิตกว่ามาตรการเหล่านี้อาจทำให้มูลค่าของเงินลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนมักใช้ทองเป็นตัวปกป้องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่างๆ