โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เดินทางเยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ หลังไทย-มัลดีฟส์มีความสัมพันธ์กันมานานถึง 34 ปี โดยระหว่างมัลดีฟส์กับไทยมีความร่วมมือในหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยวที่มีนักธุรกิจไทยมาลงทุนหลายแห่ง และมัลดีฟส์ยังเป็นประเทศคู่ค้าของไทย จากการที่ไทยนำเข้าปลาทูน่า
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามเอ็มโอยู 7 ฉบับ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ในการหารือการค้าการลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต โดยหวังขยายความร่วมมือด้านการส่งออกอาหาร การประมง ความร่วมมือด้านการศึกษา การแพทย์ และสาธารณสุข รวมถึงสินค้าโอท็อป ซึ่งทางประธานาธิบดีของมัลดีฟส์ ก็ให้ความสนใจ และจะขอความร่วมมือในการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและภาคเอสเอ็มอี และจากการที่มัลดีฟส์เป็นประเทศเกาะ และได้ให้ภาคเอกชนที่สนใจมาลงทุน มาขอรับสัมปทานสร้างโรงแรม การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด จึงอยากให้มีการลงทุนเรื่องน้ำ รวมถึงการท่องเที่ยว ความมั่นคง และแรงงานไทย
นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการเชื่อมท่าเรือทวายมาที่มัลดีฟส์ด้วยซึ่งก็จะช่วยในเรื่องระบบการขนส่ง ขณะที่ศาลฎีกาของมัลดีฟส์ก็กำลังศึกษาข้อกฎหมายในการปกป้องนักลงทุน รวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตย ที่สาธารณรัฐมัลดีฟส์กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม