(เพิ่มเติม) นายกฯเผยไทยเซ็นMOUกับมัลดีฟส์7ฉบับขยายการค้าการลงทุน-อนาคตเชื่อมท่าเรือทวาย

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 8, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" วันนี้เป็นการอัดเทปการเดินทางเยือนสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย.56 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะและนักธุรกิจไทย โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เดินทางเยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ หลังไทย-มัลดีฟส์มีความสัมพันธ์กันมานานถึง 34 ปี โดยระหว่างมัลดีฟส์กับไทยมีความร่วมมือในหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยวที่มีนักธุรกิจไทยมาลงทุนหลายแห่ง และมัลดีฟส์ยังเป็นประเทศคู่ค้าของไทย จากการที่ไทยนำเข้าปลาทูน่า

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามเอ็มโอยู 7 ฉบับ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ในการหารือการค้าการลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต โดยหวังขยายความร่วมมือด้านการส่งออกอาหาร การประมง ความร่วมมือด้านการศึกษา การแพทย์ และสาธารณสุข รวมถึงสินค้าโอท็อป ซึ่งทางประธานาธิบดีของมัลดีฟส์ ก็ให้ความสนใจ และจะขอความร่วมมือในการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและภาคเอสเอ็มอี และจากการที่มัลดีฟส์เป็นประเทศเกาะ และได้ให้ภาคเอกชนที่สนใจมาลงทุน มาขอรับสัมปทานสร้างโรงแรม การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด จึงอยากให้มีการลงทุนเรื่องน้ำ รวมถึงการท่องเที่ยว ความมั่นคง และแรงงานไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มัลดีฟส์เองมีการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน ที่เขามีการส่งเสริม ซึ่งจริง ๆ มัลดีฟส์เป็นประเทศที่เป็นเกาะส่วนใหญ่ เขาก็มีเกาะให้ภาคเอกชนได้มาติดต่อรับสัปทานในการสร้างโรงแรม สร้างสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงการลงทุนเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะที่นี่ ถ้าดูจากสิ่งแวดล้อมก็น่าสนใจเพราะเป็นเมืองที่ติดทะเลทั้งหมดและที่สำคัญเขาให้ความรู้กับประชาชนในการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ สังเกตว่าไม่มีขยะลงไปเลย มองเห็นน้ำทะเลที่ใส มองเห็นปลาได้ด้วย เขาจะอนุรักษ์ในส่วนนี้รวมถึงเขาเริ่มที่จะมีปัญหาในส่วนของน้ำจืด ซึ่งต้องการหาภาคการลงทุนในเรื่องของการส่งเสริมเรื่องของน้ำจืด ว่าจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจากน้ำเค็มมาเป็นน้ำจืด นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในอนาคต และยังมีอีกหลายเรื่อง การดูแลนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง ในเรื่องของความมั่นคงที่เราเห็นพ้องว่าน่าจะมีความร่วมมือกัน ขณะเดียวกัน เราจะได้ดูแลทางด้านแรงงานไทยที่มาทำงานที่นี่ด้วย รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยด้วยที่จะได้ดูแลทางด้านความปลอดภัย ไม่ใช่แค่เรื่องวีซ่าอย่างเดียว

นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการเชื่อมท่าเรือทวายมาที่มัลดีฟส์ด้วยซึ่งก็จะช่วยในเรื่องระบบการขนส่ง

"เรามีการเชื่อมในเรื่องของท่าเรือระหว่างทะวายกับทางแหลมฉบังซึ่งอีกหน่อยทางมหาสมุทรอินเดียก็อาจจะเป็นจุดเชื่อมต่อมาทางมัลดีฟส์ได้ ก็ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่เราจะเชื่อมท่าเรือกับท่าเรือซึ่งในอนาคตจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเรื่องการขนส่งในระยะยาว"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ศาลฎีกาของมัลดีฟส์อยากจะมีความร่วมมือกับประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนเพราะที่นี่ก็มีการพัฒนาในเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ เป็นจำนวนมากและเห็นความสำคัญในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเขาก็มีการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อสามารถที่จะเรียกว่าประชาธิปไตยได้เต็มที่ ซึ่งมัลดีฟส์จะมีการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกัน ทางประธานศาลฎีกาท่านก็ได้พูดไว้น่าสนใจว่าเขาเองเขากำลังศึกษาข้อกฎหมายที่จะให้การดูแลปกป้องสำหรับนักลงทุน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประโยชน์มากที่จะทำให้ผู้ที่จะมาลงทุนนั้นมีความมั่นใจและมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนธุรกิจในประเทศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ