รวมทั้งปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมาเป็นจำกัดปริมาณการรับซื้อให้สอดคล้องกับผลผลิตเกษตรกรจริง เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาระสต๊อกข้าวรัฐบาลที่มีมากถึง 15-17 ล้านตันข้าวสาร และยังทำให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการข้าวภายในประเทศ สามารถแข่งขันกับรัฐบาลในการซื้อข้าวจากเกษตรกรได้
"การรับจำนำข้าวของรัฐบาลช่วง 2 ปี คือปี 54/55 และปี 55/56 น่าจะสะท้อนความจริงให้กับรัฐบาลได้แล้ว ว่าเป็นราคาที่นำตลาดมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหามากมายจากการขายข้าวไม่ออก และยังขาดทุนจำนวนมาก ทำให้เกิดภาระการคลังของประเทศ"
รายงานข่าวระบุว่า แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะบอกว่าสต๊อกข้าวรัฐบาลยังจำหน่ายออกไปไม่หมด ทำให้ปิดบัญชีโครงการรับจำนำรอบปี 54/55 และ 55/56 ไม่ได้นั้น แต่หากนำสัญญาซื้อข้าวรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ที่รัฐบาลระบุว่ามีการขายข้าวออกไปแล้ว 7.3 ล้านตันในช่วงปีที่ผ่านมามาคำนวณ โดยต้นทุนข้าวเปลือกที่รับจำนำมาเมื่อคิดเป็นข้าวสารจะมีต้นทุนอยู่ที่ตันละ 25,000 บาท แต่ขายในราคาตลาดเฉลี่ยตันละ 12,500 บาท ดังนั้นการขายข้าว 7.3 ล้านตัน รัฐบาลจะขาดทุนไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท หรือขาดทุนประมาณ 73,000 ล้านบาท ยังไม่รวมกับปริมาณข้าวในสต๊อกที่รัฐบาลระบุว่าเหลืออีก 15 ล้านตันข้าวสาร หากขายทั้งหมดจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท
แหล่งข่าว ระบุว่า ในวงการข้าวต่างรู้กันว่าข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ขายแบบจีทูจีนั้น เป็นการขายผ่านนายหน้า และมีการนำข้าวในสต๊อกมาวนเวียนขายในประเทศ ซึ่งบางส่วนนำกลับมาขายให้ผู้ส่งออกเพื่อใช้ส่งออกให้กับลูกค้าต่างประเทศ และบางส่วนขายให้กับโรงสี เพื่อนำข้าวมาหมุนเวียนเข้าโครงการรับจำนำ เพราะสัญญาข้าวจีทูจี 7.3 ล้านตัน เป็นเพียงบันทึกความตกลง(เอ็มโอยู) ที่ยังไม่มีการซื้อขายจริง และการขายข้าวในปริมาณมากขนาดนั้นต้องทยอยส่งมอบโดยใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป จึงเกิดข้อสังเกตว่า รัฐบาลจะได้รับเงินจากการขายข้าวจีทูจีได้ทันกับแผนส่งเงินคืนกระทรวงการคลังได้จริงหรือไม่ หากไม่ใช่การขายให้นายหน้าในประเทศ และนำเงินส่วนนั้นมาส่งคืนกระทรวงการคลัง