ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำมิ.ย.ต่ำกว่าพ.ค. สะท้อนทัศนคติเชิงลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 11, 2013 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน มิ.ย.2556 ดัชนีรวม ดัชนีเฉพาะกลุ่มนักลงทุน และดัชนีเฉพาะกลุ่มผู้ค้าทองคำ มีค่าดัชนี 32.91 จุด, 31.39 จุด และ 39.80 จุดตามลำดับ

อนึ่ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ(Gold Price Sentiment Index) ประจำเดือน พ.ค.56 อยู่ที่ 45.50 จุด

ทั้งนี้ ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่ระดับ 50.00 จุดค่อนข้างมาก สะท้อนทัศนคติในเชิงลบ โดยค่าความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิ.ย.มีค่าต่ำกว่าเดือนพ.ค. ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า การที่ราคาทองคำมีการปรับตัวลงต่อเนื่องติดต่อกันในช่วง 5 เดือนแรกของปี ทำให้ความมั่นใจว่าราคาทองจะสามารถกลับขึ้นไปเป็นเชิงบวกได้อาจจะลดน้อยลง

ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยผลสำรวจสัดส่วนการลงทุนในทองคำกับเงินออมเพื่อการลงทุนของกลุ่มตัวอย่างที่คาดว่าจะลงทุนในทองคำในปี 56 กับที่เคยลงทุนในปี 55 พบว่า กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลดสัดส่วนการลงทุนทองคำเหลือเฉลี่ย 22.31% ในปี 56 ขระที่สัดส่วนการลงทุนในทองคำเฉลี่ยปี 55 อยู่ที่ 34.33% ลดลง 12.02% โดยสาเหตุของการลงทุนที่ลดลงนั้น เกิดจากความไม่แน่นอนของราคาทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง 5 เดือนติดต่อกัน

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำในเดือนมิ.ย. ได้แก่ ค่าเงินบาท ทิศทางของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาเศรษฐกิจยุโรป แต่ให้น้ำหนักค่าเงินบาทสูงสุด

ด้านนายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ สรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) ซึ่งรวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าทองคำ ประธานชมรมค้าทองคำ และผู้ประกอบกิจการด้านการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า เชื่อว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนมิ.ย.โดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ให้น้ำหนักกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,300-1,380 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 1,420-1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ หากราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) สุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดระหว่าง 20,000-21,500 บาท/หนึ่งบาททองคำ และกรอบความเคลื่อนไหวต่ำสุดระหว่าง 18,500-20,000 บาท/หนึ่งบาททองคำ โดยมีค่าเงินบาทและการชะลอมาตรการ QE ของธนาคากลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นประเด็นสำคัญในเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ