ธุรกิจอาหารลดเป้าส่งออกปีนี้เหลือโต 1.5% เจอพิษบาทแข็ง-วัตถุดิบขาดแคลน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 12, 2013 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยปีนี้ลงเหลือเพียง 1.5% คิดเป็นมูลค่า 9.8 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 6% ที่มูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบพืชผัก ผลไม้ จากปัญหาสภาพอากาศ รวมทั้งโรคระบาดในกุ้ง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารมีรายได้หายไปกว่า 7,200 ล้านบาท หรือหายไป 2.4% จากรายได้ที่ควรจะได้รับ อีกทั้งตลาดส่งออกหลักหดตัวลงทั้งอาเซียน, ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป และสหรัฐ นอกจากนี้การส่งออกสินค้าข้าว, น้ำตาลทราย และกุ้งยังลดลงเป็นจำนวนมาก

สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-เม.ย.56) การส่งออกอาหารของไทยมีมูลค่า 2.96 แสนล้านบาท ลดลง 3.6% แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังสถานการณ์การส่งออกน่าจะดีขึ้นและกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ เพราะผลผลิตทางการเกษตรจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ขณะที่โรคระบาดในกุ้งก็น่าจะลดลงจากการเข้ามาดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทำให้ราคากุ้งดิบน่าจะสูงขึ้น

แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวน และแข็งค่ามากกว่าในภูมิภาค แม้ว่าปัจจุบัน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังเชื่อว่าคงมีความผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่า

นายโชคชัย เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวได้รวม 2 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 11% โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ราว 6.0-6.2 ล้านตัน ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่คาดว่าจะส่งออกได้ 6.5 ล้านตัน เพราะผลผลิตทั่วโลกมีจำนวนมากและราคาถูกกว่าไทย ซี่งปัจจุบันไทยส่งออกข้าวเป็นดับที่ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และเวียดนาม

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงช่วงนี้อาจจะยังไม่ได้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม เพราะค่าเงินมีความผันผวนมากทำให้บริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ยาก ซึ่งช่วงนี้หากได้กำไรก็จะเป็นเพียงการได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น เพราะผู้ส่งออกต้องรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อน 2-3 เดือน และยอมรับว่าค่าเงินที่ผันผวนมากทำให้เอกชนไม่สามารถปรับตัวได้ แต่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยให้ข้อมูลหรือมีการเตือนให้เอกชนเตรียมตัวก่อน รวมทั้งดูแลให้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อให้เอกชนสามารถแข่งขันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ