ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐส่งอาการที่จะฟื้นตัวแบบยั่งยืนแล้ว ต่อไปการพิมพ์เงินดอลลาร์จึงจะลดลง หากจะมีการปรับดอกเบี้ยสหรัฐก็จะเป็นทิศทางขึ้นเสียแล้ว เงินที่ไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนา จึงเริ่มกลับไหลออก ตัวอย่างที่ชัดที่สุด ก็คือประเทศบราซิล ซึ่งเดิมเงินไหลเข้ามากเสียจนเงินแข็ง ทางการต้องใช้มาตรการเก็บภาษีนักลงทุนต่างประเทศ แต่มาวันนี้เงินกลับไหลออก ทางการบราซิลรีบยกเลิกภาษีดังกล่าว
เงินที่ไหลออก ทำให้ค่าเงินของบราซิลกลับอ่อนมากจนเริ่มดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ล่าสุดธนาคารกลางของบราซิลต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 8 เพื่อมิให้เงินเฟ้อซึ่งสูงถึงร้อยละ 6 ต้องบานเบิกออกไป กรณีบราซิล นอกจากเงินไหลออกตามวัฎจักรปกติแล้ว ปรากฏว่ายังมีปัญหาที่กระทรวงการคลังได้พยายามทำบัญชีของรัฐแบบมั่วตัวเลข เพื่อหลอกชาวบ้านว่ารัฐบาลขาดดุลงบประมาณน้อยกว่าที่เป็นจริง ทำให้เสียเครดิตต่อนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
หันกลับมาดูประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าข้อกังวลเรื่องบาทแข็งต่อไปนี้คงจะเบาลง และยิ่งมีการถกเถียงกันในประเทศเกี่ยวกับภาระของรัฐที่ยังไม่ชัดเจนเสียที ก็ย่อมกระทบความสบายใจของนักลงทุนต่างชาติไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติได้ขายพันธบัตรรัฐบาลที่เดิมลงทุนไว้ออกไปบ้างแล้ว ทำให้ดอกเบี้ยสำหรับอายุยาวสูงขึ้นไปเล็กน้อย
จากนี้ไปถ้าเงินยังไหลออกเรื่อยๆ บาทจะอ่อน และโอกาสที่กรรมการนโยบายการเงินจะปรับดอกเบี้ยให้ลดลงไปอีกหรือไม่นั้น คงจะมีน้อยทีเดียว และทั้งนี้เมื่อใดที่บาทที่อ่อนเริ่มมีผลดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยแทนที่จะเป็นขาลงหรือทรง จะกลับเป็นขาขึ้นเสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือเงินที่กลับไหลออกจะมีผลอย่างไรต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผมเคยเขียนไว้ว่า การที่กระทรวงการคลังได้ปล่อยให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังไม่ได้มีแนวคิดที่จะใช้อำนาจ เพื่อออกมาตรการชะลอเงินไหลเข้าไว้บ้างเลย เอาแต่พยายามกดดัน กนง.ให้ลดดอกเบี้ย
นโยบายดังกล่าวของกระทรวงการคลัง จึงมีผลทำให้มีโครงการที่สามารถตักตวงเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรเอาออกไปใช้นั้น ทำธุรกิจบูมจนมากเกินไป โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเงินเริ่มไหลออกก็ย่อมจะกระเทือนธุรกิจแบบนี้ ต่อไปนี้จึงควรจะมีการติดตามธุรกิจและโครงการเหล่านี้อย่างไกล้ชิด เพื่อรักษาความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินให้เป็นที่มั่นใจ"