ขณะที่เงินบาทเองก็เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคหลังดอลลาร์กลับมาปรับตัวแข็งค่า หลังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะเริ่มลดขนาดมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทไม่ได้มีสัดส่วนสูงกว่าเงินสกุลอื่น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้ขายดอลลาร์ออกไปในจำนวนมากพอสมควร เพื่อดูแลไม่ให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเกินไป อีกทั้งเป็นการลดภาระการเก็บเงินทุนสำรองไว้ในระดับที่สูง ทั้งนี้ ธปท.จะพยายามไม่ให้ฝืนต่อทิศทางของตลาดมากนัก ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองด้วย
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในระยะนี้คงเป็นการยากที่จะให้คาดการณ์ว่าเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพราะมีความเป็นไปได้ทั้งสองทางที่จะปรับตัวอ่อนค่าลง และแข็งค่าขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวานนี้(12 มิ.ย.) ที่ระหว่างวันเงินบาทอ่อนค่าลงไปจนถึงระดับ 31 บาทกว่า/ดอลลาร์ และท้ายตลาดเงินบาทก็กลับแข็งค่ามาอยู่ในระดับ 30 บาทปลายๆ/ดอลลาร์
ส่วนภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นที่ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงนั้นก็ไม่น่าวิตกกังวลเช่นกัน เพราะเป็นทิศทางการไหลกลับออกไปของเงินทุนจากต่างประเทศ เมื่อนักลงทุนเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว โดยช่วงปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากเกือบ 30% โดยมีสัดส่วนการเติบโตเกือบสูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาดี และมีแรงหนุนจากนโยบายของภาครัฐที่ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% มาเหลือ 23% และในอนาคตจะปรับลดลงให้เหลือ 20%
"ปีก่อนมีกระแสทุนจากตลาดหลักเข้ามาลงทุนในตลาดใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ พอเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว นักลงทุนก็ปรับตัวกลับ ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตก"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ส่วนผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรก็ไม่น่ากังวลเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรไทยเพียง 12% ของการถือครองพันธบัตรทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท หรือ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเปรียบเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถือว่ามีสัดส่วนที่น้อย และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้ลดการถือครองพันธบัตรลงมาเหลือ 11% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถือครองพันธบัตรระยะยาว อายุเฉลี่ย 4-5 ปี ดังนั้นเงินลงทุนระยะสั้นคงจะเหลืออยู่อีกไม่มาก
พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติมีน้อย ยกเว้นเป็นการถือครองผ่านภรรยาคนไทยหรือในชื่อของบุคคลอื่น ดังนั้นการที่เงินทุนไหลออกจึงกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่มาก
ส่วนข้อกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาเงินบาทอ่อนนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า อาจจะมีผลอยู่บ้าง เพราะเรายังต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าผลกระทบคงไม่มากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีข่าวการค้นพบ Shale Gas และ Shale Oil จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกระยะนี้ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มสูงมาก
ขณะที่การพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมหลายส่วนมาประกอบกัน ไม่ได้พิจารณาแค่เฉพาะเรื่องราคาสินค้าหมวดพลังงานเท่านั้น อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจึงต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาด้วย
"เราต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมหลายด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องพลังงาน ประกอบกับ Q1 เศรษฐกิจก็ชะลอตัว เพราะฉะนั้นต้องนำมาประกอบกันหลายๆ ปัจจัย"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว