"สิ่งที่ทำให้ตัวเลขแตกต่างกันเนื่องจากการคิดคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ หรือสต็อกข้าว ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะคิดคำนวณจากราคาต้นทุน (ราคารับจำนำ) ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาตัวเลขต่ำสุดใน 2 ส่วน คือ ราคาเฉลี่ยตามประกาศของกรมการค้าภายใน และ ราคาเฉลี่ยของราคาประกาศขาย เพราะฉะนั้นตัวเลขจะออกมาไม่ตรงกัน
สำหรับข้าวนาปี 54/55 มูลค่าที่ขาดทุนของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนนาปรังปี 55 ซึ่งมีจำนวนข้าวเข้าโครงการรับจำนำ 14 ล้านตัน วงเงิน 2.18 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ลงตัวขาดทุนเอาไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนคณะอนุกรรมการฯ ลงตัวเลขไว้ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท แตกต่างกันมากเนื่องจากสต็อกข้าวยังมีเหลืออยู่มาก เมื่อคิดคำนวณราคาที่ต่างกันทำให้ราคาแตกต่างกันมาก
นายวราเทพ กล่าวยอมรับว่า ตัวเลขการขาดทุนเฉพาะฤดูนาปี 54/55 และนาปรังปี 55 มีการขาดทุน 1.3 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 2.6 แสนล้านบาท ส่วนตัวเลขนาปี 54/55 ที่มีปริมาณข้าว 9.9 ล้านตันและใช้เงินไป 1.5 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีการปิดบัญชีจึงทำให้บัญชียังไม่นิ่ง แต่วันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.นี้ กขช.จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อที่จะได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มิ.ย.รับทราบ รวมถึงรายงานตัวเลขของแต่ละหน่วยงานด้วย
"จะนำตัวเลขทั้งหมดส่งให้ กขช.ในวันที่ 17 มิ.ย. ก่อนสรุปตัวเลขที่แท้จริงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้พิจารณาหลักการอ้างอิงราคาคงเหลือในสต็อกเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน โดยยืนยันรัฐบาลไม่ได้ขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวถึง 2.6 แสนล้านบาท และรัฐบาลไม่สามารถตกแต่งตัวเลขได้ ส่วนจะมีการทบทวนหรือปรับหลักเกณฑ์การจำนำหรือไม่ต้องรอกขช.พิจารณา" นายวราเทพ กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าการดำเนินโครงการมีความผิดปกติหรือไม่ ก็ได้ให้ดำเนินการทำข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกรไปจนถึงปี 2547 เพื่อให้เห็นว่าในแต่ละปีมีข้าวจำนวนเท่าไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ขาดทุนเท่าไหร่
"ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลนี้ทำต้นทุนเงินที่ลงไปมากกว่าโครงการประกันราคา 1 เท่าตัว แต่เมื่อคิดเฉลี่ยออกมาแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้สูงขึ้นตันละ 2 พันบาท"นายวราเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้จะมีการลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการจังหวัดซึ่งมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรกร ถึงแนวทางการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว เพื่อไม่ให้เกิดภาระปัญหา