สำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทยในเวทีต่างๆ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทุกกรอบเจรจา ต้องมีกระทรวงที่เป็นผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนและทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยวางแผนการทำงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ จากนั้นต้องรายงานความคืบหน้า เพื่อให้ทราบถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้น และหาแนวทางในการพัฒนาควบคู่กันต่อไป นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาถึงความสามารถของการแข่งขันของสินค้าหรืออุตสาหกรรมแต่ละประเภท เพื่อวางยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสม
ส่วนการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion) นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณารายการสินค้าที่ไทยจะให้การสนับสนุน และเห็นพ้องที่จะขยายระยะเวลาการผูกพันการลดภาษี ITA Expansion ออกไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้มีการสนับสนุน SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้มีการส่งออกสินค้า IT ไปยังตลาดโลก
การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยทีสุดโดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้า (Duty Free/ Quota Free DFQF) ที่ประชุมเห็นชอบการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้า โดยมอบกระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจร่วมพิจารณาให้ข้อมูลและความเห็นในเรื่องนี้
ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการประเมินสถานะไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2556 รายงานความคืบหน้าเรื่องนโยบายและกฎหมายการแข่งขันในอาเซียน และผลการประชุมเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป