"ราคาที่อ้างอิงจากสมมุติฐานต่างๆ มีได้หลายกรณี ไม่ได้ต่างจากราคาน้ำมันที่อ้างอิงได้หลายแบบ ดังนั้นผู้ที่ทำตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวต้องทำทุกตัวเลขแล้วนำมาเสนอให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจ ซึ่งการตัดสินใจต้องอยู่บนข้อมูลของการดำเนินการในอดีต เช่น มูลค่าสต็อกที่อยู่ในมือ ทิศทางราคาตลาดในอนาคตว่าเป็นอย่างไร และข้อมูลดังกล่าวต้องนำมาเปรียบเทียบทั้งหมดประกอบกับข้อมูลอื่นๆ จึงจะสามารถตัดสินใจได้" นายโอฬารกล่าว
ส่วนการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน และสามารถปรับปรุงได้ แต่การปรับปรุงควรเป็นไปในภาพรวม โดยรัฐบาลต้องเก็บข้อมูลจากแหล่งผลิต การปรับปรุงการนำข้าวเข้าสีในโครงการก็ควรมีแหล่งสีข้าวที่ใกล้แหล่งผลิตข้าวของเกษตรกร ขณะเดียวกันต้องวางแผนการระบายข้าว กำหนดตลาดเป้าหมาย รวมถึงคำนวณติดตามปริมาณและราคาที่ขายได้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
ส่วนราคารับจำนำข้าวก็ควรพิจารณาปรับลดให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก แต่จะปรับลดลงเท่าใดนั้นต้องดูจากข้อมูลทั้งหมด ซึ่งขณะนี้คณะทำงานต้องพิจารณาข้อมูลในภาพรวมก่อนที่จะมีการตัดสินใจ
นายโอฬาร มองว่า การระบายข้าวออกจากสต็อกต้องระบายตามช่วงที่เหมาะสม ทั้งการระบายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งต้องเป็นช่วงเวลาที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อให้การระบายข้าวเป็นไปตามเป้าหมายในเรื่องของราคาและปริมาณ ขณะเดียวกันจะต้องศึกษาความต้องการของตลาด ซึ่งช่วงนี้ตลาดมีความต้องการข้าวมากขึ้น
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวในตลาดโลกอ้างอิงราคาจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 2 ปี โดยราคาอยู่ที่ 15 -16 ดอลลาร์/น้ำหนักข้าว 100 ปอนด์ ถือเป็นราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 3% ในเวลาแค่ 7 วัน จึงคาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกเดือนมิ.ย.ปีนี้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ปลูกข้าวมีสต็อกลดลงมาก และที่สำคัญการระบายข้าวของประเทศอื่นๆ จะเป็นการระบายข้าวในราคาถูกตามคุณภาพข้าว และเป็นการระบายเพื่อสร้างสภาพคล่องในประเทศ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่มีสต็อกข้าวเก็บไว้ระบายในเวลาที่เหมาะสม