การที่รัฐบาลอ้างว่าตัวเลขของอนุกรรมการยังไม่ได้รวมสต๊อกข้าวอีกจำนวนหนึ่ง หากสมมุติตกหล่นไปจริงและสต็อกมีอยู่จริงมากกว่าตัวเลขที่อนุกรรมการใช้ การขาดทุนก็จะลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงหวังอย่างยิ่งว่าตัวเลขสต๊อกข้าวที่อนุกรรมการใช้จะตกหล่น จึงได้สั่งให้มีการสำรวจสต๊อก เผื่อจะเจอตัวเลขที่หายไป แต่การตรวจนับสต๊อกจะต้องตรวจนับทั้งหมดไม่ใช่พยายามตรวจนับเฉพาะที่ หรือจุดใดจุดหนึ่ง
ทั้งนี้ ตามมาตรฐานบัญชีทั่วไป การตรวจนับสต๊อกต้องกระทำทุกครั้งที่มีการปิดบัญชีและต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศ โดยห้ามเคลื่อนย้ายข้าวในวันนั้นเพื่อป้องกันการเวียนเทียนสต๊อกจากโรงสีแห่งหนึ่งไปโรงสีอีกแห่งหนึ่ง และผู้ตรวจนับก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ โดยถ้ารัฐบาลจะทำให้ตัวเลขเป็นที่เชื่อถือจริงๆ ก็ควรจะจ้างสำนักงานสอบบัญชีเอกชนให้ระดมทำการตรวจนับกันอย่างมีระบบ
นายธีระชัย กล่าวว่า ในอดีตประเด็นสต๊อกข้าวอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องตรวจนับเป็นประจำ แต่ครั้งนี้สต๊อกมีปริมาณมากกว่าที่เคยมีมาก่อนอย่างมหาศาล และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีก ตราบใดที่รัฐบาลจะยังดำเนินนโยบายนี้ จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจตรวจนับสต๊อกอย่างรัดกุม หากตรวจนับแล้วปรากฏว่ามีข้าวหายไป สมมุติว่าข้าวที่ตรวจนับจริงถ้าหากมีอยู่น้อยกว่าตัวเลขที่ใช้ การขาดทุนก็จะมากกว่า 1.36 แสนล้านบาท
นอกจากนั้น ในการตรวจสต็อกจำเป็นต้องมีการสุ่มประเมินคุณภาพข้าวด้วยทั้งในแง่ความเก่า มอดกิน เชื้อรา หรือการเสื่อมสภาพจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากคณะอนุกรรมการตีราคาสต๊อกข้าว โดยใช้ราคาตลาด ณ วันปิดบัญชี แต่ ณ วันปิดบัญชีนั้น เป็นราคาของข้าวที่มีมาตรฐานดีเต็มที่ ตามที่ตลาดกำหนด หากคุณภาพข้าวด้อยลงราคาที่ใช้คำนวณก็จะต้องลดลงให้สอดคล้องกับสภาพจริงของสต๊อกข้าวด้วย และถ้าสภาพของข้าวมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานตลาด ผลขาดทุนก็จะสูงกว่า 1.36 แสนล้านบาทขึ้นไปอีก
อีกทั้ง ตัวเลขของอนุกรรมการ ถึงแม้จะได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีอย่างถูกต้องมากกว่าตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีที่เคร่งครัดที่กำหนดไว้ว่า"สินค้าคงเหลือต้องวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า"โดยมูลค่าสุทธิที่จะได้รับนั้นจะต้องมีการหักค่าใช้จ่ายและต้นทุนโดยตรงที่จะเกิดขึ้นในการขายข้าวนั้นออกไปเสียก่อน
ดังนั้น เนื่องจากการขายข้าวจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี จึงจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอีกมาก ที่ยังต้องหักออกจากมูลค่าสต๊อก ซึ่งจะทำให้ขาดทุนสูงกว่า 1.36 แสนล้านบาทแน่นอน ถึงแม้รัฐบาลจะยังไม่คำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายอนาคตดังกล่าว แต่บริษัทประเมินเครดิตและนักวิเคราะห์สากลจะต้องแสวงหาตัวเลขนี้ และหากไม่ได้รับข้อมูลจากรัฐบาลก็จะหาจากแหล่งอื่นๆ ระยะเวลาที่จะขายข้าวที่จะใช้เวลาอีก 3-4 ปีนั้น เฉพาะข้าวที่รับจำนำในปีที่หนึ่งนะครับ คิดกันเอาเองก็แล้วกันว่าข้าวที่รับจำนำในปีที่สองจะต้องรอคิวข้าวปีที่หนึ่งให้ขายหมดไปก่อน จะต้องรอไปอีกกี่ปี
นอกจากนี้ เดิมมีตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านปรากฏในสื่อที่รายงานว่าเป็นตัวเลขของอนุกรรมการประเมินผลขาดทุนสำหรับ 3 ฤดู คือตัวเลขประมาณหนึ่งปีครึ่ง ไม่ใช่เฉพาะปีเดียว)รัฐบาลไม่ได้พูดถึงตัวเลขขาดทุนที่เลยหนึ่งปีไว้แต่อย่างใด ถามว่าตัวเลขขาดทุนสะสมจนถึงวันปิดบัญชีนั้นมีความสำคัญหรือไม่ ตอบว่าตัวเลขขาดทุนแต่ละปีนั้นใช้เปรียบเทียบกับฐานะงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำคัญ ถ้าภาษานักบัญชีจะเรียกว่าบัญชีกำไรขาดทุน
แต่ตัวเลขขาดทุนสะสมจนล่าสุด ไม่ว่าจะสำหรับสามงวด หรือต่อไปจะสำหรับสี่งวด เป็นตัวเลขที่แสดงภาระของรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อภาระหนี้สาธารณะ ภาษานักบัญชี จะเรียกว่างบดุล ตัวเลขนี้ก็สำคัญต่อฐานะด้านการคลัง และบริษัทประเมินเครดิตและนักวิเคราะห์สากลก็จะติดตามตัวเลขทำนองนี้ด้วย