ผู้ว่ากฟผ. ยันลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-ระบบสายส่งที่ทวาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2013 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยโครงการศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นิคมอุตสาหกรรมทวายขนาดกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ในเมียนมาร์นั้นจะเป็นระบบสายส่งเชื่อมโยงไทย-เมียนมาร์ โดยมีสายส่งแรงสูงเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งไทยพร้อมจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวหากมีเหลือจากการจำหน่ายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวายแล้ว ขณะเดียวกันหากเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในนิคมอุตสาหกรรมทวายก็สามารถส่งไฟฟ้าจากไทยกลับไปช่วยเหลือได้ ซึ่งจะเป็นแบ็คอัพเสริมความมั่นคงด้านพลังงานแก่โครงการที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทวาย

ส่วนปริมาณการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงกว่านี้ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในทวาย และจะต้องสร้างความมั่นใจกับผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าว่าจะมีลูกค้ามากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้ในเมียนมาร์มีการสร้างหลายนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมฯติลาวา ซึ่งวงเงินลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าจะมีมูลค่านับแสนล้านบาท นอกจากนี้ต้องรอดูการปรับปรุงด้านกฏหมายของเมียนมาร์ด้วย เพราะปัจจุบันกฏหมายและภาษียังไม่เอื้อต่อการลงทุนด้านไฟฟ้า

ผุ้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า เรื่องที่เป็นห่วงในขณะนี้คือความมั่นคงและต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคต โดยที่ผ่านมามีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจนก่อสร้างไม่ได้ ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลวในการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะช่วงหลังจาก 5 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป

สำหรับผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าการคนใหม่ของ กฟผ.นั้นจะเป็นใคร ตนเองไม่ห่วงเพราะผู้สมัครผู้ว่าการฯ มาจากคนใน กฟผ.ทั้ง 3 คนล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทำงานทั้งหมด และสิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ คือ การดูแลความมั่นคงของค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและประชาชนยอมรับได้

ด้านนายสุนชัย คำนูนเศรษฐ รองผู้ว่าการ กฟผ.หนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ รัฐต้องมีส่วนแบ่งการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานมากครึ่งหนึ่ง ดังนั้นยังเชื่อมั่นว่า กฟผ.จะยังคงครองสัดส่วนผลิตไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทผลิตไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มากขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตามในส่วนของ กฟผ.ก็ต้องเตรียมแผนให้พร้อมเพื่อลดต้นทุนผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับเอกชน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เช่น กรณีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกงขณะนี้มีประสิทธิภาพเพียง 38% ขณะที่ความร้อนร่วมมีประสิทธิภาพถึง 61% ในเรื่องนี้ก็ต้องมาตัดสินใจว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น หรือซ่อมบำรุงเพื่อรักษาระดับผลิตต่อ แต่ก็มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ