(เพิ่มเติม) ครม.รับรายงาน-ข้อเสนอโครงการจำนำข้าวโยนกลับเข้า กขช./ตั้ง กก.ตรวจสต็อก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2013 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาข้อมูลและข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และมอบให้ กขช.กลับไปพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้แต่งตั้งคณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานตรวจสอบปริมาณสินค้าคงเหลือ เพื่อตรวจสอบให้ส่งให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว และนำกลับมารายงาน ครม.อีกครั้ง

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานข้อมูลต่อที่ประชุม ครม.ถึงตัวเลขผลกำไรขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นยอดขาดทุนรวม 1.36 แสนล้านบาท จาก 2 โครงการแรก คือโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปี 54/55 และโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 55 แต่ยังไม่รวมการดำเนินงานในส่วนของข้าวนาปี ปี 55/56

"2 โครงการแรก คือนาปี 54/55 และนาปรังปี 55 ตัวเลขไม่ค่อยแตกต่างกันมาก วันนี้จึงสรุปที่ครม.ได้รับทราบตัวเลขที่นิ่งแล้ว คือ 2 โครงการมีตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนลบ.ตามรายงานอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยึดตามตัวเลขนี้เพื่อไปดำเนินการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำต่อไป เป็นหน้าที่ กขช. ครม.แค่พิจารณาข้อมูล ข้อเสนอ และมอบให้ กขช.ไปพิจารณาในอำนาจหน้าที่ต่อไป" นายวราเทพ กล่าว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีตัวเลขสต๊อกข้าวจากองค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ที่ยังไม่ได้บันทึกรวมไว้ในยอดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อีกราว 2.98 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิตปี 55/56 ที่ประชุมครม.จึงขอให้เน้นการตรวจสต็อกข้าว โดยให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดแนวทางการตรวจสต็อกข้าวที่ขณะนี้ยังเป็นประเด็นปัญหากันอยู่ว่ายังมีตัวเลขสต็อกข้าวในปี 55/56 ที่อ้างว่ายังไม่ได้บันทึกอีก 2.9 ล้านตัน เนื่องจากเป็นข้าวที่อยู่ระหว่างการส่งมอบ โดยได้ขอให้นำมารายงานภายใน 1 เดือน ซึ่งจะทำให้ทราบตัวเลขการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครบทั้ง 3 โครงการ

ขณะเดียวกัน ตัวเลขโครงการจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 ณ วันที่ 31 ม.ค.56 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 9.9 ล้านตัน มีการรายงานว่ามีข้าวเปลือกค้างในสต็อก 2.9 ล้านตัน ดังนั้นจึงมีข้าวเปลือกที่รอสีแปรสภาพอยู่ 7 ล้านตัน ซึ่งใน 7 ล้านตันข้าวเปลือกนี้จะต้องสีแปรสภาพออกมาเป็นข้าวสารได้ 4 ล้านตันข้าวสาร แต่ตัวเลขในรายงานที่บันทึกอยู่กลับมีข้าวสารเพียง 1.7 ล้านตัน ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบความชัดเจนของตัวเลขนี้ใหม่

"คณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชี มีข้อสังเกตว่าทำไมข้าวเปลือก 7 ล้านตัน จึงแปรเป็นข้าวสารเพียง 1.7 ล้านตัน แต่เขาไม่กล้ารับตัวเลขนี้ จึงขอให้ตรวจสต็อกก่อน จึงจะนำมาคำนวณ ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่เป็นการตกแต่งตัวเลข นี่คือเอกสารราชการ วันหนึ่งถ้าถูกพิสูจน์ ก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งโทษการปลอมแปลงแก้ไขเอกสารราชการค่อนข้างหนัก ยืนยันว่าที่ฝ่ายค้านบอกว่ากำลังพยายามตกแต่งตัวเลขนั้น เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน ตัวเลขจริงคืออะไรจะต้องปรากฎ แต่ขณะนี้ที่เกิดความยุ่งยากเนื่องจากต้องปรับปรุงระบบการรายงาน และการบันทึก ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรทำให้เป็นระบบเดียวกัน คือ การคิดคำนวณสต็อกด้วยวิธีจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ โดยจะประเมินจากราคาที่จะเกิดความเสียหายสูงสุดไว้" นายวราเทพ กล่าว

ส่วนกรณีเรื่องการปรับเกณฑ์ราคารับจำนำข้าวใหม่นั้น นายวราเทพ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ว่าจะเลือกใช้แนวทางใดจากที่ กขช.เสนอมาทั้งหมด 3 แนวทาง โดยได้ขอให้ กขช.นำข้อเสนอแนะของสภาพัฒน์ และรายงานของตนกลับไปประกอบการพิจารณาอีกครั้ง

"กขช.เมื่อฟังรายงานจากสภาพัฒน์ และของผมที่รายงานแล้วว่ายึดตัวเลขการขาดทุน 1.36 แสนล้านบาทนั้น กขช.ต้องไปพิจารณาใหม่ว่าจะทบทวนหรือไม่(ราคารับจำนำ) สรุปว่าตัวเลขขาดทุนใน 1 ปีที่ชัดเจนแล้วคือ ไม่ถึง 2 แสนล้านบาท ตัวเลขถึง 31 ม.ค.56 แม้จะยังไม่มีการปิดบัญชี แต่ตัวเลขถึงล่าสุดสิ้นพ.ค.56 กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าหากนับปริมาณข้าวสารบางส่วนในปี 54/55 และนาปรัง 56 ที่ยังไม่บันทึกยอดอีกเกือบ 3 แสนตัน จะทำให้ตัวเลขการขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท อยู่ในวิสัยที่ไม่มากขึ้น" นายวราเทพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ