(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยครม.รับทราบรายงาน-ข้อเสนอจำนำข้าว แต่ยังไม่มีมติปรับลดราคา-ปริมาณ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2013 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการปรับลดราคาและปริมาณข้าวที่จะเปิดรับจำนำในโครงการข้าวนาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57 เนื่องจากต้องรอฟังข้อมูลที่มีความชัดเจนจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เสียก่อน
"ยังไม่มีมติ วันนี้เป็นเพียงการรับฟังข้อเสนอและความเห็นต่างๆ แล้วให้ทาง กขช.นำกลับไปพิจารณาให้เป็นไปในทิศทางที่ชัดเจน ก่อนที่จะนำมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า ครม.จะพิจารณาเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวในโครงการข้าวนาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57 ที่ กขช.จะนำเสนอใน 3 ทางเลือก คือ 1.ลดราคาจากปัจจุบันที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ลงอีก 15-20%, 2.ใช้ราคาต้นทุนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คำนวณและบวกกำไรให้ชาวนา 25% และ 3.ใช้ราคาชี้นำตลาดโดยบวกราคาเพิ่มให้จากราคาตลาดอีก 10% ซึ่งทั้ง 3 วิธีจะทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้ารอบใหม่ลดเหลือ 12,000-13,500 บาท/ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิและข้าวชนิดอื่นก็จะลดราคาในแนวทางเดียวกัน

โดยวันนี้ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล พร้อมทั้งคำชี้แจงจากนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้กำชับให้ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบสต็อกข้าวในโกดังทุกแห่ง โดยทำงานร่วมกับทีมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และรายงานกลับมายังที่ประชุม ครม. หากสต็อกข้าวที่ใดไม่ครบถ้วน Surveyer ที่ดูแลก็ต้องเป็นผู้ชดใช้ตามราคาต้นทุนจริง

ขณะนี้ตัวเลขปริมาณการรับจำนำข้าว และผลการดำเนินงานขาดทุนที่กระทรวงพาณิชย์และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เป็นตัวเลขเดียวกันแล้ว คงเหลือแต่ตัวเลขสต็อกคงค้างและการคำนวณมูลค่าสต็อกคงค้างที่ยังไม่ตรงกัน ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ จะมอบให้ กขช.และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ นำกลับไปตรวจสอบอีกครั้งแล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุม ครม.

นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบว่า จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนจะทำให้มีการพิจารณาปรับลดราคาและปริมาณรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตหน้าหรือไม่ โดยระบุว่า ในทางบัญชีเรียกได้ว่าขาดทุน แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวช่วยดูแลเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการหมุนเวียน

และเมื่อถามถึงผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ฤดูกาลปี 54/55 ที่มีจำนวนมากถึง 1.36 แสนล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้มีจำนวนชาวนาที่ปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการปรับ ครม.ในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังถือว่า รมว.พาณิชย์ ยังทำหน้าที่ต่อไป โดยตนเองยังเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบงานของทุกกระทรวง แต่จะมีการปรับ ครม.หรือไม่นั้นหากจะดำเนินการเมื่อใดก็จะชี้แจงให้สื่อมวลชนรับทราบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและผลการทำงาน

ด้านร.ท.หญิง สุณิศา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีอยากให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันต้องมีกระบวนการตรวจสอบทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งหากจะมีการปรับลดราคารับจำนำควรคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ และการดำเนินโครงการดังกล่าวต้องอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

ทั้งนี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ถึงแนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2556/57 ต้องอยู่ในกรอบ ปริมาณ และวงเงินตามที่ ครม.อนุมัติ โดยให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 5% เหลือ 12,000 บาท/ตัน และจำกัดวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสนบาท แต่ที่ประชุมฯ ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ จึงมอบหมายให้ กขช.กลับไปศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบให้ชัดเจนแล้วนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง

นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังรายงานว่า กขช.ได้เสนอให้กำหนดเป้าหมายการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวไม่เกินปีละ 7 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการคลังของรัฐบาลที่ตั้งเป้าจะจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560

โดยหลังรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)แล้ว ที่ประชุมฯ มีแนวคิดเกี่ยวกับการปรับลดราคารับจำนำข้าว 4 แนวทาง คือ 1.ใช้ราคาต้นทุนการผลิต+กำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับอีก 25% 2.ปรับลดจากราคารับจำนำเดิมลง 15-20% 3.ใช้ราคานำตลาด +10% หรือ 4.คิดราคาตลาด ณ วันแรกที่เริ่มโครงการ

สำหรับปริมาณรับจำนำจะไม่ให้เกิน 17 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเฉลี่ยไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตันข้าวเปลือก ส่วนระยะเวลาโครงการนั้น นาปีจะเริ่มช่วงเดือน พ.ย.56-ก.พ.57 และนาปรังจะเริ่มเดือน มี.ค.-ก.ค.57

ขณะที่ข้อเสนอของสภาพัฒน์นั้น ในระยะแรกควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก/ครัวเรือน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อย ส่วนระยะต่อไปให้กำหนดราคารับจำนำที่มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาในตลาดโลก, จำกัดพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้ความสำคัญต่อเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน มีพื้นที่น้อยหรือต้องเช่าที่นาจากผู้อื่น, ควรเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ เช่น ใบประทวน โดยนำระบบไอทีมาใช้เพื่อความรวดเร็ว, ควรเร่งระบายข้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาในตลาดโลกและเน้นความโปร่งใส, รายงานสต็อกข้าวต่อ ครม.เป็นระยะๆ, วางระบบการกำกับ ดูแล และตรวจสอบโครงการ และลงโทษผู้ทำผิดอย่างร้ายแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ