อนึ่ง วานนี้(18 มิ.ย.) ที่ประชุม กขช.มีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 56 ลงเหลือ 12,000 บาท/ตัน จาก 15,000 บาท/ตัน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.56 พร้อมจำกัดวงเงินการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไว้ที่ไม่เกินรายละ 5 แสนบาทด้วย
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คว่า วันนี้ ครม.นัดประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเสนอตามมติ กขช.เรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการรับจำนำข้าวสำหรับรอบปัจจุบัน โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ลงมาเป็น 12,000 บาท/ตัน และการกำหนดวงเงินรับจำนำไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท
เรื่องนี้ทาง กขช.ได้มีการพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้าน โดยมีข้อมูลที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีตัวเลขต้นทุนเฉลี่ยสำหรับการปลูกข้าวนาปรังทุกพื้นที่ คำนวณได้ขณะนี้ที่ 8,731 บาท/ตันข้าวเปลือก ดังนั้นหากคิดตามสูตรมาตรฐานที่ใช้สำหรับการดูแลราคาพืชเกษตรอื่นๆ ทางกรมฯจะเพิ่มราคาให้ 25% โดยประมาณ ซึ่งก็จะได้ราคาเท่ากับ 10,914 บาท/ตัน แต่เมื่อคำนวณจากราคาที่ 12,000 บาท/ตัน ก็จะพบว่ามีส่วนต่างประมาณ 37%
2.ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่าหากรัฐบาลต้องทำงบประมาณสมดุลภายในปีงบประมาณ 2560 ก็จำเป็นต้องรักษากรอบวินัยการคลัง ซึ่งตัวเลขการใช้จ่ายสำหรับดูแลการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและดูแลราคาในโครงการนี้ควรจะต้องอยู่ที่ไม่เกิน 1แสนล้านบาท/ปี และการบริหารกรอบวงเงินหมุนเวียนให้อยู่ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม
"เรื่องนี้ผมเห็นว่าจำนวนเม็ดเงินที่ใช้เป็นเรื่องรอง หากสามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นและส่งผลให้ประเทศโดยรวมมีความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าการบริหารงบประมาณให้อยู่ในกรอบวินัยการคลังก็จะส่งผลให้ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งประเด็นกรอบวินัยการคลังนี้จะมีน้ำหนักมากต่อการตัดสินใจ" นายบุญทรง ระบุ
และ 3.ประเด็นสุดท้ายก็คือว่า เวลานี้เป็นช่วงการเก็บเกี่ยวปลายฤดู ข้าวเปลือกที่เหลือยังไม่เก็บเกี่ยวมีจำนวนไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่มีการนำมาเข้าโครงการแล้ว ปริมาณที่เป็นกรอบตามมติ ครม.จำนวน 7 ล้านตันก็ใกล้จะเต็ม จึงเห็นว่าการปรับเปลี่ยนช่วงเวลานี้ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบกับชาวนารายเล็กรายย่อย อาจจะมีกระทบกับชาวนารายใหญ่ที่มีผลผลิตจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ต้องขอความเห็นใจด้วย
"จากเหตุผลที่เอ่ยมาข้างต้น และการปลูกนาปรังก็เป็นผลผลิตรอบที่ 2 แต่นาปีปลูกอยู่ในพื้นที่ซึ่งปลูกได้เพียงครั้งเดียวเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงขอเล่าให้ฟังเพื่อเป็นการชี้แจงให้ท่านได้รับทราบเหตุผลในการดำเนินการครั้งนี้ครับ" นายบุญทรง ระบุ