"ลดราคารับจำนำเหลือ 12,000 บาท/ตัน จะทำให้ราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับราคาตลาดมากขึ้น ทำให้ส่วนต่างของราคาข้าวไทยกับคู่แข่งน้อยลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามและอินเดียได้ง่ายขึ้น ราคาที่แตกต่างจากคู่แข่งประมาณ 30-40 เหรียญฯ ข้าวไทยจะมีความได้เปรียบ น่าจะมีลูกค้าหันกลับมาซื้อมากขึ้นเพราะคุณภาพข้าวเราดีกว่า ที่ผ่านมาลูกค้าไม่ซื้อเราเพราะราคาแพงกว่าคนอื่นถึง 100 เหรียญฯ"นายชูเกียรติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
โดยเฉพาะข้าวนึ่งนั้น ไทยมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น เพราะเมื่อลดราคาจำนำเหลือ 12,000 บาท/ตัน น่าจะทำให้ข้าวไทยมีโอกาสมากขึ้น โดยปัจจุบัน ราคาข้าวนึ่งของไทยอยู่ที่ 530-540 เหรียญ/ตัน (คิดจากราคารับจำนำ 15,000 บาท/ตัน) ข้าวนึ่งอินเดียราคาอยู่ที่ 440-450 เหรียญ/ตัน ข้าวนึ่งปากีสถาน ราคาอยู่ที่ 440-450 เหรียญ/ตัน
ส่วนข้าวขาวไทย 520 เหรียญ/ตัน (คิดจากฐานราคา 15,000 บาท/ตัน) เวียดนาม 370-380 เหรียญ/ตัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดราคารับจำนำจะทำให้สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ สต็อกของผู้ส่งออกไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม และไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง ผู้ซื้อจึงไม่ต้องรีบซื้อ
"สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยคงกระเตื้องขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดทำให้กลไกตลาดทำงานได้ดีขึ้น จากเมื่อก่อนที่หยุดสนิท"นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการส่งออกข้าวเคยเสนอแนะให้ทางการปรับลดราคารับจำนำข้าวไปแล้วหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล แต่ขณะนี้ด้วยภาวะกดดันหลายอย่างทำให้ กขช.ตัดสินใจปรับลดราคารับจำนำลงมา ส่วนกระแสข่าวเรื่องข่าวรมยาข้าวเน่าในสต็อกรัฐบาลแล้วนำมาขายให้ผู้ประกอบการข้าวถุงในราคาถูกนั้น มองว่าน่าจะเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลมากกว่า เพราะคงไม่มีใครกล้าเอาชื่อเสียงมาเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้
"บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ รวมทั้งยี่ห้อเฮ้าส์แบรนด์ต่างๆ ก็คงไม่ยอมหรอก อาจจะเป็นการพูดที่เกินเลยไป จริงอยู่ข้าวที่เน่าเสียก็คงมีบางส่วนเพราะการดูแลไม่ทั่วถึง แต่คงไม่มีใครกล้าทำถึงขนาดนั้น"