"การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าวนั้น ทางเลขาธิการกฤษฎีกายืนยันต่อที่ประชุม ครม.แล้วว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย" นายวราเทพ กล่าว
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น และปริมาณข้าวในตลาดโลกมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศเพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปีงบประมาณ 2560 ส่วนเป้าหมายการรับจำนำนั้นยังอยู่ที่ 22 ล้านตันเช่นเดิม ซึ่งขณะนี้ได้มีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการแล้ว 19 ล้านตัน
นายวราเทพ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวจะไม่ถูกฝ่ายค้านนำไปโจมตี เพราะไม่ได้ขัดต่อแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสมต่อสถานการณ์
สำหรับกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่กำหนดวงเงินดำเนินการสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 จะต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจากกระทรวงการคลัง 410,000 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 90,000 ล้านบาท
ส่วนข้อท้วงติงว่าการปรับเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะกระทบกับสิ่งที่รัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายหรือไม่นั้น นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนตามที่ได้แถลงไว้ครบถ้วนแล้วแก่เกษตรกรตั้งแต่ปีแรก จากนี้ไปจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรที่จะเน้นเพิ่มรายได้ให้ดีขึ้น พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า จากนี้ไปต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นคือ 1.การทำเกษตรโซนนิ่ง โดยเน้นให้มีการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร 2.เร่งรัดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรมาปรับใช้ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ ที่เมื่อผลิตและส่งออกแล้วได้ราคาดี และ 3.ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกิตติรัตน์ ณ ระนอง หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน
นอกจากนี้เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย เข้มงวดในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียน การตรวจสภาพข้าว การเก็บรักษา และการระบายข้าว
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2% ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.69% ในปีแรกของโครงการ และเพิ่มขึ้น 0.62% ในปีที่สอง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าอัตราปกติ
ทั้งนี้ในปี 55 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาคครัวเรือนทั้งประเทศขยายตัวถึง 6.7% แต่หากไม่มีโครงการเพื่อเพิ่มรายได้และอำนาจซื้อของเกษตรกรในชนบท จะส่งผลทำให้การบริโภครวมของครัวเรือนขยายตัวเพียง 4.7% เท่านั้น