ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลในเดือนพ.ค.56 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 จำนวน 23,709 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) การปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ (R-bill) 17,709 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลทั้งจำนวน และ 2) การปรับโครงสร้างพันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท โดยการกู้เงินระยะสั้นทั้งจำนวน
ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันในเดือนพ.ค.56 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ของ Japan International Cooperation Agency(JICA) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 11,892.55 ล้านเยน โดยแบ่งเป็น (1) การออกตั๋วสัญญาใช้เงินของกระทรวงการคลัง จำนวน 3,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 พ.ค.56 และ (2) รายได้ของ กฟภ.จำนวน 26.74 ล้านบาท
ส่วการชำระหนี้ของรัฐบาลในเดือนพ.ค.56 กระทรวงการคลังได้ชำระหนี้เป็นเงินรวม 17,450.57 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การชำระหนี้ของรัฐบาลจากงบประมาณชำระหนี้ เป็นจำนวน 12,504.50 ล้านบาท ดังนี้ ชำระหนี้ในประเทศ 4,480.23 ล้านบาท โดยเป็นการชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวน และชำระหนี้ต่างประเทศ 8,024.27 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 7,945.59 ล้านบาท ดอกเบี้ย 78.53 ล้านบาท และค่าธรรมเนียม 0.15 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการชำระหนี้ของรัฐบาลจากแหล่งอื่น เป็นจำนวน 4,946.07 ล้านบาท แบ่งเป็น การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ(FIDF 1) จำนวน 2,000.61 ล้านบาท และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่สองฯ(FIDF 3) จำนวน 654.46 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 และการชำระคืนต้นเงินกู้ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 จำนวน 2,291 ล้านบาท โดยใช้เงินส่วนเกินจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ที่สะสมอยู่ในบัญชีเงินฝากจากเงินกู้เพื่อการบริหารหนี้
ส่วนการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจในเดือนพ.ค.56 นั้น รัฐวิสาหกิจได้มีการกู้เงินในประเทศเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจในเดือนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้มีการขยายอายุสัญญาเงินกู้ (Roll Over) หนี้คงค้างในส่วนที่รัฐบาลค้ำประกัน จำนวน 18,000 ล้านบาท