SCB EIC คาดปรับราคารับจำนำข้าวลดภาระขาดทุน 7.4 พันลบ.-ช่วยส่งออกดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 20, 2013 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปรังปีการผลิต 56 จาก 15,000 บาท/ตัน เป็น 12,000 บาท/ตัน พร้อมทั้งจำกัดวงเงินรับจำนำข้าว 500,000 บาท/ครัวเรือนนั้น กรณีที่ดีที่สุด(best-case scenario)รัฐบาลจะสามารถลดภาระขาดทุนจากข้าวนาปรังปีการผลิตนี้ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวและคาดว่าจะเข้าสู่โครงการรับจำนำได้ราว 7,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ การรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าที่ตันละ 15,000 บาท ทำให้มีต้นทุนการผลิตข้าวสารอยู่ที่ราว 23,200 บาท/ตัน (รวมค่าสี และค่าวัตถุดิบ โดยการผลิตข้าวสาร 1 ตันจะต้องใช้ข้าวเปลือกประมาณ 1.5 ตัน) ซึ่งหากรัฐบาลสามารถขายข้าวได้ที่ราคาส่งออกข้าวขาว 5% (F.O.B price) ณ ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ราว 16,400 บาท/ตัน รัฐบาลจะมีภาระขาดทุนเกือบ 6,800 บาท/ตัน

แต่หากรัฐบาลปรับลดราคารับจำนำลงมาอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน จะทำให้มีต้นทุนการผลิตลดลงเหลือเพียงประมาณ 18,700 บาท/ตัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีภาระขาดทุนอยู่ที่ราว 2,300 บาท/ตัน หรือมีผลขาดทุนลดลงจากราคารับจำนำเดิมประมาณ 4,500 บาท/ตัน SCB EIC จึงคาดการณ์ปริมาณข้าวเปลือกนาปรังเข้าสู่โครงการรับจำนำเพิ่มเติมจากผลผลิตข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีก 2.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นข้าวสาร 1.6 ล้านตัน น่าจะทำให้การปรับลดราคารับจำนำจะช่วยให้รัฐบาลลดภาระขาดทุนลงได้ราว 7,400 ล้านบาท

สำหรับเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมากที่สุด คือเกษตรกรในภาคกลางและภาคเหนือ เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังส่วนใหญ่ของไทยกว่า 90% มาจากพื้นที่ภาคกลาง(48%) และภาคเหนือ(42%) ในขณะที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการโรงสีข้าวไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวน่าจะเข้าสู่โครงการรับจำนำเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ การปรับลดราคารับจำนำข้าวลงจะช่วยให้ต้นทุนของผู้ส่งออกและราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย โดยปัจจุบันทั่วโลกมีผลผลิตข้าวอยู่ในระดับสูงทำให้ราคาส่งออกข้าวของประเทศต่างๆ ปรับตัวลดลง ยกตัวอย่างเช่น ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของเวียดนามลดลงราว 10% (YOY) ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นผลมาจากนโยบายรับจำนำข้าว

อีกทั้งการที่ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลงจะทำให้ส่วนต่างราคาส่งออกข้าวขาวของไทยกับประเทศคู่แข่งปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันส่วนต่างราคาส่งออกข้าวขาวของไทยกับเวียดนามอยู่ที่ 162 ดอลลาร์/ตัน จากเดิมที่เคยมีส่วนต่างราคาราว 60-70 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งอื่นที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคุณภาพข้าวที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

"การปรับลดราคารับจำนำข้าวจะทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาข้าวไทยและเวียดนามมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยปรับตัวดีขึ้น และน่าจะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงกว่าปริมาณที่หลายหน่วยงานได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้" เอกสารศูนย์วิจัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ