ทั้งนี้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จะร่วมกับสมาคมชาวนาไทย และสภาเกษตรกร 22 จังหวัดภาคกลาง ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในสัปดาห์นี้ เพื่อยืนยันถึงจุดยืนดังกล่าวที่ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการปรับราคารับจำข้าว โดยจะขอรอดูท่าทีและฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบหรือไม่สามารถปรับขึ้นราคารับจำนำข้าวไปที่ 15,000 บาท/ตันได้นั้น ทางกลุ่มชาวนาและเกษตรกรจะหารือกันอีกครั้งเพื่อขอมติว่าจะดำเนินมาตรการในการกดดันรัฐบาลต่อไปอย่างไร แต่ในเบื้องต้น หากการยื่นข้อเรียกร้องไม่เป็นผล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำตัวแทนชาวนาจากทั่วทุกภาคออกมาเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ทางกลุ่มชาวนาไม่สามารถยอมรับราคารับจำนำใหม่ที่ลดลงได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรยังคงเท่าเดิมซึ่งยังสูงถึง 9,000 บาท/ปริมาณข้าว 1 ตัน นอกจากนี้ รัฐบาลเองได้เคยรับปากกับชาวนาไว้ในช่วงการหาเสียงว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้ดีขึ้น โดยการรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท/ตัน แต่การที่รัฐบาลตัดสินใจเช่นนี้ถือว่าผิดคำสัญญา
พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการรับจำนำข้าวนั้น เงินไม่ได้ตกถึงมือชาวนาอย่างแท้จริงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขอยืนยันว่าชาวนาได้รับเงินจากการรับจำนำข้าวผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ชาวนามีความพอใจมากกับราคารับจำนำที่ 15,000 บาท/ตัน
ด้าน น.สพ.ชัย วัชรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มองว่า การที่รัฐบาลต้องยอมถอยด้วยการปรับลดราคารับจำนำข้าวลงมาเหลือ 12,000 บาท/ตัน เป็นเพราะถูกกระแสสังคมกดดันว่าเงินที่ใช้ไปในโครงการรับจำนำไม่ได้ตกถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง และสร้างผลขาดทุนเป็นระดับแสนล้านบาท อันส่งผลต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งการที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศด้วยการปรับลดราคารับจำนำข้าวลงนั้น ได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อการยกระดับรายได้ของชาวนา และกระทบต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
สำหรับแนวทางที่รัฐบาลควรจะใช้ทดแทนการปรับลดราคารับจำนำข้าวนั้น คือการเริ่มต้นใช้วิธีการทำโซนนิ่งอย่างจริงจัง เพื่อให้ยกเลิกการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่ได้คุณภาพ และหันมาจูงใจชาวนาในการปลูกพืชเสรษฐกิจอื่นทดแทน ซึ่งระหว่างนี้รัฐบาลก็จะต้องประกันผลประโยชน์ให้ชาวนาในระยะ 3-4 ปีซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น เช่น อ้อย
ทั้งนี้เมื่อปริมาณผลผลิตข้าวลดลงอันเนื่องมาจากมีการทำโซนนิ่งแล้ว ก็จะทำให้ปริมาณข้าวในตลาดลดลง และข้าวที่จะเข้าสู่ระบบโครงการรับจำนำก็จะลดลงด้วยอย่างน้อย 30% สิ่งที่จะตามมา คือ รัฐบาลก็จะไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับโครงการรับจำนำข้าว และยังลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการเก็บสต็อก และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอื่นๆ ลงได้อีกมาก
ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยังเรียกร้องรัฐบาลด้วยว่าต้องการให้มีตัวแทนชาวนาเข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการเปิดโอกาสให้ชาวนาซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการรับจำนำข้าวโดยตรงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นใดๆ ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็นมติกขช.ที่ประกาศใช้ทั่วประเทศ