ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่สดใสขึ้น ขณะที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐแถลงอย่างชัดจนว่า เฟดมีแนวโน้มว่าจะลดอัตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ลงในปีนี้ ก่อนที่จะยุติโครงการในช่วงกลางปีหน้า
ปัจจุบันยังยึดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในแถลงการณ์ภายหลังการประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน เฟดระบุว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในระดับปานกลาง ขณะเดียวกันเฟดก็ระบุเป็นครั้งแรกว่า ปัจจัยเสี่ยงช่วงขาลงต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดแรงงานนั้น ได้ลดน้อยลงตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว
แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่อัตราว่างงานก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และเฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรต่อไปจนกว่าแนวโน้มตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก
เฟดยังได้ให้คำมั่นว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ใกล้เคียงกับระดับ 0% ตราบเท่าที่อัตราว่างงานยังคงอยู่เหนือระดับ 6.5% ส่วนเงินเฟ้อนั้นมีการคาดการณ์ว่า จะยังคงต่ำกว่า 2.5%
ธนาคารกลางสหรัฐได้เข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) และพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน นอกเหนือไปจากการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยทั้ง 2 มาตรการมีเป้าหมายที่จะผ่อนคลายภาวะด้านการเงินและส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจและการสร้างงาน
นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตการเงิน เฟดได้ดำเนินโครงการ QE เสร็จสิ้นไปแล้ว 2 รอบ และได้ประกาศใช้ QE รอบที่ 3 เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ด้วยการซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) วงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และได้ขยายโครงการซื้อพันธบัตร ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อเดือนธ.ค. 2555 ขณะที่งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์จนถึงปัจจุบัน
แนวโน้มที่ดีขึ้น
ในการคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุดได้มีการเผยแพร่ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนั้น เฟดมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นขึ้นเล็กน้อยเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า
การคาดการณ์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายเฟด 19 รายนั้น มองว่าอัตราว่างงานจะอยู่ในช่วง 7.2-7.3% ในปี 2556 และจะอยู่ในช่วง 6.5-6.8% ในปี 2557 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการประเมินก่อนหน้านี้
เฟดคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.3 - 2.6% ในปี 2556 และการขยายตัวจะดีขึ้นในปีหน้ามาอยู่ที่ระดับ 3-3.5% ซึ่งสูงขึ้นกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.9-3.4%
การคาดการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของเฟด 14 ราย จากทั้งหมด 19 รายระบุว่า เฟดไม่ควรที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2557
นายเบอร์นันเก้ กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า "เรามองว่าปัจจัยพื้นฐานดูเหมือนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการขยายตัวนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤต แต่ในปัจจุบันกำลังช่วยหนุนการขยายตัวอย่างชัดเจน"
ในขณะที่เบอร์นันเก้ระบุว่านโยบายการคลังว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญในปีนี้ ปัจจัยหนุนที่สำคัญต่างๆได้ปรับตัวดีขึ้น
เตรียมสำหรับการปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตร
นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า หากข้อมูลที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาสอดคล้องกับการคาดการณ์สำหรับเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐก็จะยังคงลดปริมาณการซื้อพันธบัตรตามขั้นตอนที่มีความระมัดระวังไปจนตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า และยุติการซื้อพันธบัตรประมาณกลางปี
ประธานเฟดกล่าวว่า อัตราว่างงานจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 7% หลังจากนั้น และอัตราว่างงานเดือนพ.ค.จะอยู่ที่ 7.6% ลดลจากระดับเดือนส.ค.ที่ 8.1% ซึ่งเป็นเดือนก่อนที่เฟดจะเปิดตัวโครงการซื้อสินทรัพย์แบบไม่กำหนดวันสิ้นสุดโครงการ
สำหรับความพยายามที่จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นนั้น เบอร์นันเก้ กล่าวว่า เฟดคาดว่า จะมีช่วงห่างอย่างมากระหว่างการยุติการซื้อพันธบัตรและการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หลังจากที่ได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับศูนย์มาตั้งแต่ปลายปี 2551 โดยเป้าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มว่า จะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน หลังจากที่การซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดลง
นายเบอร์นันเก้ย้ำด้วยว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อที่จะควบคุมมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณนั้นอยู่บนเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลในอนาคต และการประเมินแนวโน้มของเศรษฐกิจ
นายโจเซฟ แกจนอน นักวิชาการของสถาบัน Peterson Institute for International Economics กล่าวว่า การลดปริมาณการซื้อพันธบัตรอาจจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนก.ย.หรือธ.ค. หากสถานการณ์แวดล้อมเป็นไปด้วยดี
การส่งสัญญาณการชะลอแผนซื้อพันธบัตรในปีนี้สอดคล้องกับที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ และมองว่า การบ่งชี้ของนายเบอร์นันเก้ที่ว่า เฟดอาจจะไม่ขายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันในช่วงที่มีการทำให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกตินั้น ถือเป็นข่าวใหญ่
นายเบอร์นันเก้จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆในการที่จะกำหนดกรอบการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับนโยบายของเฟดในอนาคต การสื่อสารของเฟดสร้างความสับสนมากกว่าที่จะก่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องระยะเวลาของการซื้อพันธบัตรในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆแล้วถือเป็นเงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
หุ้นสหรัฐร่วงลงไปกว่า 1% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะ 2.35% เมื่อวันพุธ จากระดับ 1.93% ในวันที่ 21 พ.ค. ก่อนหน้าที่นายเบอร์นันเก้จะแถลงกับสภาคองเกรสว่า เฟดจะลดปริมาณการซื้อลงในช่วงการประชุมช่วง 2-3 การประชุมครั้งต่อไป หากว่า แนวโน้มตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายดักลาส เอลเลียต ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Brookings กล่าวว่า "ปฏิกริยาในตลาดเงินที่มีต่อประกาศของเฟดในวันนี้เกี่ยวกับนโยบายเงินตรานั้น สอดคล้องกับปฏิกริยาตอบสนองต่อการแสดงความเห็นของเฟดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งความไม่แน่นอนและมุมมองที่เป็นลบ แต่ความไม่แน่นอนในตลาดและมุมมองที่เป็นลบบางส่วนก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่จะถอนนโยบายที่เฟดกำลังส่งสัญญาณ และนำไปสู่การลดขอบเขตการกระตุ้นด้านการเงินในที่สุด" สำนักข่าวซินหัวรายงาน