โดยในส่วนของไก่เนื้อ ปริมาณการผลิตในรอบปี 56 คาดว่ามีปริมาณการผลิตประมาณ 1,104.05 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปี 55 ที่มีปริมาณการผลิต 1,055.93 ล้านตัว เนื่องจากเกษตรกรมีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม และระบบการผลิตที่ปลอดภัย เพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากเริ่มส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็งไปยังสหภาพยุโรป รวมทั้งคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะอนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยเช่นกัน จึงทำให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น
สำหรับไข่ไก่ ปริมาณการผลิตในรอบปี 56 มีเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีประมาณการผลิตประมาณ 11,420.50 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากปี 55 ที่มีปริมาณการผลิต 10,939.15 ล้านตัว เนื่องจากปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ในปี 55 ยังมีมากทำให้มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงในระบบมากขึ้น ประกอบกับผู้เลี้ยงไก่ไข่เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม และมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี โดยเลี้ยงในระบบโรงเรือนปิด ส่งผลให้อัตราการให้ไข่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.56 อากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ในระบบในช่วงดังกล่าวมีน้อย
นายชวลิต กล่าวว่า ในส่วนของสุกรปริมาณการผลิตสุกรในรอบปี 56 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตประมาณ 13.07 ล้านตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณการผลิต 12.83 ล้านตัว เนื่องจากมีการพัฒนาการเลี้ยงและบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ประกอบกับไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาด
สำหรับน้ำนมดิบ คาดว่าในปี 56 จะมีปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำนมดิบอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการฟาร์ม คัดเลือกแม่โคสายพันธุ์ดีมีอัตราการให้นมสูงและคัดแม่โคที่อายุมากผสมติดลูกยากออกจากฟาร์ม เพื่อปรับสัดส่วนของแม่โครีดนมต่อฝูงให้เหมาะสม ซึ่งในรอบปี 56 นี้ คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตโคนมประมาณ 1.12 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.72 จากปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิต 1.06 ล้านตัว
ส่วนโคเนื้อ ปริมาณการผลิตในรอบปีคาดว่าจะมีประมาณ 9.95 แสนตัว ลดลงร้อยละ 3.06 จากปีที่ผ่านมา ที่ผลิตได้ 1.03 ล้านตัว เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคส่วนใหญ่นำพื้นที่สำหรับเลี้ยงโคเนื้อที่มีอยู่อย่างจำกัดไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา ซึ่งให้ผลผลิตตอบแทนเร็วกว่า ส่งผลให้พื้นที่สำหรับเลี้ยงโคเนื้อลดลง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในการเลี้ยงโคเนื้อ โดยปัจจุบันแรงงานเลี้ยงโคเนื้อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ส่วนคนวัยแรงงานนิยมไปทำงานที่อื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น รับจ้างรายวันตามโรงงานอุตสาหกรรม รับจ้างทั่วไป เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรบางรายไม่สามารถขยายการเลี้ยงโคได้ เนื่องจากลูกโคหายาก และราคาอาหารสัตว์แพง