เงินบาทเปิด 31.17/18 อ่อนค่าต่อตามภูมิภาคจากความกังวลเฟดจะชะลอ QE

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2013 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.17/18 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.12/15 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค
"เงินบาทเคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาค น่าจะยังแกว่งตัวเหมือนเดิมตามกระแสข่าวที่เข้ามาและถ้อยแถลงของประธานเฟดเมื่อวาน" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00-31.40 บาท/ดอลลาร์ โดยประเมินแนวต้านแรกอยุ่ที่ 31.22 บาท/ดอลลาร์ หากผ่านไปได้ก็มีโอกาสที่จะไปถึง 31.40 บาท/ดอลลาร์ ส่วนแนวรับแรกอยู่ที่ 31.10 บาท/ดอลลาร์ ถ้าหลุดแนวรับไปได้อาจลงมาอยู่ที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.11/15 เยน/ดอลลาร์ จากวานนี้ที่ระดับ 97.99/98.02 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3237/3239 ดอลลาร์/ยูโร จากวานนี้ที่ระดับ 1.3193/3195 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 31.0320 บาท/ดอลลาร์
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ปรับลดตัวเลขประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาจากเดิม 5% เหลือแค่ 4.2% เนื่องจากประเมินว่าแรงส่งเศรษฐกิจไทยกำลังแผ่วลงต่อเนื่องโดยอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาแล้วพักใหญ่ อาทิ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก กำลังอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว
  • นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าการส่งสัญญาณถอนมาตรการอัดฉีดเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐจะส่งผลให้ธุรกิจไทยบางส่วนที่มีแผนจะออกไปลงทุนในต่างประเทศอาจชะลอการตัดสินใจออกไป เนื่องจากจะมีต้นทุนทางการเงินในการกู้เงินเหรียญสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น และผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้ราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศแพงขึ้น
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุเฟดส่งสัญญาณลดคิวอี ไม่กระทบไทย สั่งแบงก์ชาติดูแลใกล้ชิด หวั่นค่าบาทผันผวน-เงินทุนไหลออกด้านตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงรับข่าวหลังเฟดระบุชัดชะลอมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องก่อนหยุดกลางปีหน้า "จรัมพร" ชี้แม้ต่างชาติจะขายต่อเนื่องแต่ถือว่าเป็นระดับที่พอรับได้ เชื่อไม่เกิดเหตุการณ์ตื่นเทขายตามมา การันตีหุ้นไทยพื้นฐานแข็งแกร่ง
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้(20 มิ.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า เฟดอาจจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรในปีนี้ นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากจำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX(Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค.ร่วงลง 87.8 ดอลลาร์ หรือ 6.39% ปิดที่ 1,286.2 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้(20 มิ.ย.) หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานที่ว่าภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลง และจำนวนคนว่างงานของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.ร่วงลง 2.84 ดอลลาร์ ปิดที่ 95.4 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์(BRENT) ส่งมอบเดือน ส.ค.ที่ตลาดลอนดอน ดิ่งลง 3.97 ดอลลาร์ ปิดที่ 102.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้(20 มิ.ย.) หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่าอาจลดขนาดการซื้อพันธบัตรในปลายปีนี้ นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากรายงานยอดขายบ้านมือสองที่พุ่งขึ้นเกินคาดของสหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบเงินเยนที่ระดับ 97.24 เยน จากระดับของวันพุธที่ระดับ 96.41 เยน แต่ขยับลงเล็กน้อยเมื่อเทียบฟรังค์สวิสที่ 0.9278 ฟรังค์ จากระดับ 0.9299 ฟรังค์ ขณะที่ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.3196 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3274 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.5478 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5486 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.9175 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9344 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เผยดัชนีแนวโน้มธุรกิจในเดือน มิ.ย.พุ่งขึ้นสู่ระดับ 12.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เดือน เม.ย.54 จาก -5.2 ในเดือน พ.ค. แสดงให้เห็นว่าภาวะทางธุรกิจภาคการผลิตในเขตมิด-แอตแลนติกฟื้นตัวขึ้นในเดือนนี้
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงร่วงลง 370 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 11,860 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,282.93 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 40.02 ดอลลาร์สหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ