เงินบาทปิด 31.01/03 แข็งค่าจากช่วงเช้า มีแรงขายดอลล์ช่วงท้ายตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2013 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.01/03 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 31.17/18 บาท/ดอลลาร์
"ระหว่างวันเงินบาทไปทำนิวไฮที่ระดับ 31.20 บาท/ดอลลาร์...ช่วงท้ายตลาดมีแรงขายดอลลาร์ในตลาด offshore มาก ทำให้ปรับตัวลงมาเร็ว" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า สัปดาห์หน้าหากไม่มีปัจจัยใหม่ เงินบาทมีแนวโน้มที่จะปรับตัวอ่อนค่าได้อีก เนื่องจากมาตรการชะลอ QE ที่เฟดประกาศออกมาไม่น่าจะหาข้อยุติได้ง่ายๆ โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวไว้ระหว่าง 31.00-31.20 บาท/ดอลลาร์

"ช่วงนี้ range ประมาณ 20 สตางค์ทุกวัน หากหลุด figure อาจลงไปแตะ 30.80 บาท/ดอลลาร์ก็ได้" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.48 เยน/ดอลลารื จากระดับ 97.11/15 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3224 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.3237/3239 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,400.50 จุด ลดลง 1.69 จุด, -0.12% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 79,035.17 ล้านบาท
  • นายลูอิส มาเรีย ลินเด ผู้ว่าการธนาคารกลางสเปน คาดเศรษฐกิจสเปนอาจจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลังจากเศรษฐกิจหดตัวลงหนักสุดในช่วงปลายปี 55
  • นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุการที่ดัชนีตลาดหุ้นของไทยยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนตื่นตัวกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐจะชะลอมาตรการ QE เท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงแค่สถานการณ์ระยะสั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 14 มิ.ย.อยู่ที่ 176.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 7 มิ.ย.56 ที่ 176.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย วันที่ 14 มิ.ย. อยู่ที่ 23.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 7 มิ.ย.56 อยู่ที่ 23.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินบาทวันที่ 14 มิ.ย.56 อยู่ที่ 5,393.1 พันล้านบาท จาก 5,408.4 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.56
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56(ต.ค.55-พ.ค.56) มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,278,188 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 180,619 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.5 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,687,216 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 115,406 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 409,028 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 122,578 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง 102,135 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 531,606 ล้านบาท
  • นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุยังไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในขณะนี้ เนื่องจากขนาดของตลาดในปัจจุบันค่อนข้างใหญ่ และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นก็ต้องมีขนาดที่ใหญ่มาก ทั้งนี้ มองว่าแม้ภาวะตลาดหุ้นไทยในขณะนี้จะปรับตัวลดลงและผันผวนมาก แต่ก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมาจากปัจจัยที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ออกมาส่งสัญญาณแนวโน้มที่จะมีการชะลอหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มฟื้นชัดเจนตัว ส่งผลให้นักลงทุนมีการถอนเงินทุนออกไปตั้งหลักเพื่อรอลงทุนครั้งใหม่
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ หลังราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 329 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.875% เพิ่มขึ้น 0.040% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 0.48 จุด ปิดที่ระดับ 142.10 ในตลาดหุ้นโตเกียว
  • นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD ระบุการเคลื่อนย้ายเงินทุนในขณะนี้สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องควรระมัดระวัง แต่ยังเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังได้เฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยมองว่าขณะที่สหรัฐมีแนวโน้มจะประกาศยกเลิกมาตรการ QE หรือมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบนั้นจะทำให้เงินจากประเทศไทยจะกลับเข้าไปอยู่ที่ยุโรปและสหรัฐมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น
  • บรรดารัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศยูโรโซนต่างเห็นพ้องกับลักษณะสำคัญของกลไกที่จะทำให้กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป(ESM) สามารถเพิ่มทุนโดยตรงแก่ธนาคารที่ประสบปัญหาได้ เนื่องจากปัจจุบันกองทุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินถาวรของยูโรโซนไม่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ธนาคารที่ประสบปัญหาในเขตยูโรโซนได้โดยตรง และมีเพียงประเทศที่เป็นเจ้าของธนาคารที่ประสบปัญหาเท่านั้นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงปรับตัวลง 130 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 12,100 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,308.89 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 14.06 ดอลลาร์สหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ