"อีกสองรายที่เหลือ คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) นั้นเสนอโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกะวัตต์ และมีราคาต่ำ แต่ตามเงื่อนไขการประมูลจะต้องมีการนำไปเฉลี่ยค่าไฟฟ้ากับอีกรายหนึ่ง คือ บมจ.โกวล์พลังงาน (GLOW) ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ออกมาสูงกว่ากลุ่มกลัฟ์ จึงทำให้กลุ่มกัลฟ์ชนะการประมูลไปทั้งหมด" แหล่งข่าว กล่าว
หลังจากนี้ กลุ่มกัลฟ์จะต้องเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เมื่อตกลงเรียบร้อยแล้ว ก็จะเสนอต่อนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เห็นชอบเพื่ออนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไป
ในระหว่างนี้ กกพ.ก็จะต้องชี้แจงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนในการเปิดซองประมูลครั้งแรกที่ บริษัท เอ็นพีเอส และอมตะ พาวเวอร์ ที่ตกรอบไปและยังมีข้อข้องใจในเงื่อนไขการประมูล รวมทั้งจะต้องรอดูในการเปิดซองประมูลในรอบนี้ด้วยว่า บมจ.โกลว์ และบมจ.ผลิตไฟฟ้า จะมีการร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นและแก้ข้อข้องใจทั้งหมดได้ก่อนที่จะมีการอนุมัติโครงการให้กลุ่มกลัฟ์ต่อไป คาดว่าขั้นตอนทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้
"ในการเซ็นสัญญากับ กฟผ.จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้รัดกุม โดยจะต้องระบุว่าผู้ที่ชนะการประมูลในครั้งนี้ จะต้องไม่มีการเปลี่ยนสถานที่และเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าให้ด้วยหากมีการเปลี่ยนสถานที่ เนื่องจากในการประมูลไอพีพี 2 ครั้งที่ผ่านมา กลุ่มกัลฟ์ได้มีการเจรจาขอเปลี่ยนสถานที่และเชื้อเพลิง พร้อมทั้งขอเพิ่มค่าไฟฟ้าด้วย โดยครั้งแรกเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ครั้งที่ 2 เปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มาเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กลุ่มกัลฟ์เป็นเพียงรายเดียวที่ชนะการประมูล อาจจะมีข้อครหาว่ามีการฮั๊วประมูลเกิดขึ้น กกพ.จึงมีการตรวจสอบเงื่อนไขการประมูลอีกครั้งหนึ่งว่ามีการเขียนไว้ในเงื่อนไขการประมูลหรือไม่ว่า หากมีผู้ชนะประมูลรายเดียวจะเข้าข่ายเป็นผู้ผูกขาดตลาดไฟฟ้าหรือไม่ แต่ก็ไม่พบว่ามีการเขียนระบุไว้
สำหรับการประมูลไอพีพีครั้งนี้ เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2569