สำหรับผู้ร่วมลงนาม ประกอบด้วย นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มพพ., เครือซิเมนต์ไทย(SCC), บมจ.ปตท.(PTT), บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP), บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และกลุ่มมิตรผล เพื่อเป็นแกนนำในการบริหารงาน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะมีความหลากหลายด้านเกษตร พลังงาน อาหาร ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและไอที จากนั้นจะทยอยดึงเอกชนรายอื่นกว่า 35 แห่งเข้าร่วมโครงการภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้บริหารธุรกิจด้วยความสมดุลไม่หวังกำไรมากเกินไป เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะหากบริหารงานโดยความประมาทไม่สร้างภูมิคุ้มกันหวังแต่กำไรโดยไม่มีขอบเขต จะทำให้หลายประเทศล่มสลาย หรือองค์กรธุรกิจล้มลงได้ ดังนั้น หากเอกชนไทยยึดหลักบริหารดังกล่าวจะสามารถฝ่าฟันวิกฤติและช่วยให้ภาคธุรกิจเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนทั้งสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายสุเมธ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท หรือ 3.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นประโยชน์ แต่ต้องดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ และทุกขั้นตอนโปร่งใส ทั้งการประชาพิจารณ์ความเห็นจากประชาชน เพื่อให้โครงการเดินหน้าโดยไม่มีการต่อต้าน ขณะที่เอกชนต้องอยู่ในกติกา เพื่อให้ทุกโครงการเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยง ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายตามมา