"ปลอดประสพ" ย้ำโครงการจัดการน้ำเป็นเรื่องลงทุนเร่งด่วนเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย ยันงบไม่สูญ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 25, 2013 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ยืนยันการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณา และออกเป็น พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการการคลังกู้เงินสำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยไม่สามารถรอดำเนินการไปตามวาระปกติได้ เพราะปัญหาอุทกภัยสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก และเกิดมาแล้วทั้งในยุโรป, อินเดีย และแคนาดา ขณะเดียวกันยืนยันว่าไม่ได้เป็นการสร้างภาระต่องบประมาณของประเทศ เพราะไม่ได้กู้มาเพื่อรอก่อสร้างโดยเปล่าประโยชน์ แต่ได้เร่งการก่อสร้างควบคู่กันไปอย่างเต็มที่

ส่วนความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างสัญญาที่จะเซ็นกับบริษัทเอกชน โดยมอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้คัดเลือกคณะผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำร่างสัญญา ซึ่งกรรมการที่จะเข้าร่วมคณะต้องมีความรู้ใน 3 ด้าน 1.ข้อกฎหมาย 2.เรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ด้านเทคนิค โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 180 วันที่บริษัทจะยื่นราคาประมูลไว้

สำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 กลุ่ม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์ ซึ่งจะให้ความสำคัญด้านเทคนิคเป็นหลัก เพื่อให้แต่ละบริษัทที่ปรึกษารู้บทบาทหน้าที่ขอตัวเองในแต่ละโมดูลที่เข้าไปดูแล ซึ่งเงื่อนไขในเบื้องต้น บริษัทที่เข้ามายื่นทีโออาร์เป็นบริษัทที่ปรึกษาจะสามารถเป็นที่ปรึกษาได้ทุกโมดูล แต่ในแต่ละโมดูลที่กำหนดต้องมีที่ปรึกษา 3 กลุ่ม บริษัทจะไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาซ้ำกันใน 3 กลุ่มนี้ได้ เพื่อป้องกันการทุจริต โดยในแต่ละโมดูลจะมีที่ปรึกษาใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ด้านบริหารจัดการ, ด้านเทคนิค และด้านการควบคุมการก่อสร้าง

นายปลอดประสพ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้คัดค้านการก่อสร้างฟลัดเวย์ทั้งหมดว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีการแสดงความคิดเห็นในกระบวนการการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และกรณีนักวิชาการเสนอให้ใช้การขุดลอกคูคลองที่มีอยู่ในปัจจุบันมาแทนการก่อสร้างฟลัดเวย์นั้น เห็นว่าเนื่องจากสภาพคูคลองส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง จึงขัดกับแนวทางการก่อสร้างโครงการดังกล่าวที่ต้องการเลี่ยงเมือง โดยศึกษาได้จากเมืองหลักในต่างประเทศ เช่น โตเกียว, โอซาก้าจะไม่มีการผันน้ำเข้าผ่านเมือง

สำหรับแนวเส้นทางการก่อสร้างฟลัดเวย์นั้น รัฐบาลจะใช้ผลศึกษาของกรมชลประทานที่มีอยู่ แต่จะนำมาปรับปรุงโดยขยายลำคลองให้กว้างขึ้นแทนการขุดลึก เนื่องจากพื้นที่ประเทศไทยอยู่ใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล การขุดลึกไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และปรับให้ทางผันน้ำไปลงที่แม่น้ำแม่กลองแทนแผนของกรมชลประทานที่ต้องลงทะเล ซึ่งจะต้องผ่านเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ