โพลล์หอการค้าชี้ปี56 หนี้สินครัวเรือนไทยพุ่งสูงรอบ 5 ปี เฉลี่ย 1.8 แสนบาท/ครัวเรือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 25, 2013 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน จากการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-23 มิ.ย. พบว่าผู้ตอบ 64.6% ระบุว่ามีหนี้สิน โดยหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนปี 56 อยู่ที่ 188,774.54 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 12% จากเฉลี่ยปี 55 ที่อยู่ที่ 168,517.16 บาท/ครัวเรือน นับเป็นอัตราการเพิ่มด้วยตัวเลข 2 หลัก และสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มสำรวจมาตั้งแต่ปี 51 โดยในจำนวนหนี้ 188,774.54 บาท เป็นหนี้ในระบบ 50.4% และหนี้นอกระบบ 49.6% มีการผ่อนชำระเดือนละ 11,671.93 บาท

เมื่อถามถึงการเป็นหนี้สินและการเปลี่ยนแปลงของหนี้ พบว่าในปี 55-56 มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% โดยกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน มีสัดส่วนการก่อหนี้นอกระบบถึง 50% ขณะที่กลุ่มรายได้ 5,000-15,000 บาท จะมีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบใกล้เคียงกันที่ 42-44% ส่วนกลุ่มที่รายได้เกิน 15,000 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในระบบ 43-46%

ส่วนสาเหตุที่หนี้เพิ่มขึ้น ผู้ตอบส่วนใหญ่ 23.3% ระบุมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รองลงมา 22% เป็นค่าเล่าเรียนบุตรหลาน, 13.5% ระบุการซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน, รถ ซึ่งเมื่อเปรียบค่าครองชีพกับรายได้ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 72.1% ระบุว่าค่าครองชีพสูงเกินไป โดยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน อันดับแรกให้ลดค่าครองชีพ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยบัตรเครดิต และดูแลราคาก๊าซและน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยปรับลดลง ซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามีประชาชนถึง 80-90% ระบุว่าซื้อสินค้าน้อยลงหรือซื้อเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาก เพราะสินค้าแพงขึ้น ขณะเดียวกันการก่อหนี้ใหม่ปีนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 10% และเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้นนั้นทำให้น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีมาตรการใดออกมากระตุ้น และการบริโภคจะชะลอตัวไปถึงไตรมาส 4 ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงอีก ซึ่งศูนย์ฯ จะแถลงการปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 56 อีกครั้งวันที่ 8 ก.ค.นี้ จากปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4-5% ซึ่งหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ควรจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3 เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำไปมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ