นายประภัสร์ กล่าวว่า ได้สั่งซื้อรถจักรขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 20 คัน คิดเป็นเงินประมาณ 2,022 ล้านบาท โดยมีกำหนดส่งมอบรถจักรคันแรกภายใน 15 เดือนหลังลงนามสัญญา และจะส่งมอบทั้งหมดภายใน 20 เดือน
ทั้งนี้ รถจักรที่สั่งซื้อครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สั่งซื้อรถจักรจากประเทศจีน มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ เพราะจีนคงต้องพิสูจน์คุณภาพและประสิทธิภาพของหัวรถจักรเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นรถจักรชุดแรกจากจีน จากเดิมที่ไทยใช้รถจักรจากยุโรป หากอนาคตรถจักรจากจีนมีประสิทธิภาพจะเป็นโอกาสที่จะขยายงานในประเทศไทย ซึ่งเร็วๆนี้ รฟท.มีแผนจัดซื้อหัวรถจักรอีก 50 คัน และจัดซื้อแคร่สินค้าอีกกว่า 300 คัน
สำหรับรถจักรที่สั่งซื้อนี้จะนำมาให้บริการขนส่งสินค้าในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบันรฟท.มีปัญหาการให้บริการไม่ตรงเวลา เนื่องจากรถจักรไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้โดยสารหันไปใช้ระบบการขนส่งรูปแบบอื่น เมื่อมีรถจักรเข้ามาให้บริการ ประกอบกับมีการปรับปรุงราง ก็เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าและรายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
นายประภัสร์ กล่าวว่า การรถไฟฯมีแผนพัฒนาด้านระบบโลจิสติกส์ โดยโครงการนี้เชื่อมโยงกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน ปี 2553-2558 และให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Hub & Spokes) โดยการก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard:CY) ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้มีความพร้อมเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า อีกทั้งยังมีแผนงานการก่อสร้างทางคู่ และการปรับปรุงทางในเส้นทางต่าง ๆ ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง และ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น
แต่ในปัจจุบันการรถไฟฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนรถจักรและรถสินค้าทำให้ไม่สามารถจัดเดินขบวนรถได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ และไม่สามารถสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟตามแผนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ได้ และขาดความเชื่อมั่นในการขนส่งสินค้าจากผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ หากการรถไฟฯสามารถจัดหาหัวรถจักร จำนวน 20 คันนี้ ได้ตามแผนระยะเวลา 2 ปี การรถไฟฯจะสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนรถจักร เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยใช้ล้อเลื่อนที่รองรับน้ำหนักบรรทุกการขนส่งได้สูงสุด สามารถบรรเทาปัญหาการขนส่งคอนเทนเนอร์ที่คับคั่งในท่าเรือแหลมฉบัง และรองรับการส่งออกของสินค้าเกษตรในรูปแบบคอนเทนเนอร์จากภูมิภาคสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ลดความแออัดของการจราจรทางถนน (Traffic Congestion) อุบัติเหตุ มลภาวะทางอากาศ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบ Multimodal ซึ่งเป็นการลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศอีกด้วย
หลังจากนี้ ภายในอีก 2 ปี ข้างหน้า การรถไฟฯจะเร่งจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าอีก 50 คัน เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการขนส่งผู้โดยสารในอนาคต โดยจะดำเนินการขายเอกสารประกวดราคาในเร็ววันนี้