แต่ในอนาคตเมื่อสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยสิ้นสุดลง ราคาในการเจรจาครั้งใหม่จะไม่ถูกเหมือนปัจจุบัน ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตหลังหมดสัญญาก๊าซในอ่าวไทยคงไม่ต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้พยายามดูแลโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เป็นธรรม ซึ่งบางส่วนก็เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดราคาที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาราคาก๊าซธรรมชาติถูกผูกขาดโดย ปตท. ดังนั้นภายใต้การแข่งขันเสรี กลไกของตลาดจะมีส่วนช่วยให้ราคาก๊าซฯ เป็นไปอย่างเหมาะสมได้
ซึ่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอยู่แล้ว จะเห็นได้จากใบอนุญาตประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติทุกประเภท ได้เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยไม่ปิดกั้น และกำหนดให้ผู้ที่เป็นเจ้าของท่อก๊าซต้องยินยอมให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ท่อก๊าซได้ ดังนั้นจึงสอดคล้องกับนโยบายของ รมว.พลังงานคนปัจจุบันที่ต้องการเห็นการแข่งขันอย่างเสรี
โดยล่าสุด กกพ.อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูก รวมถึงการออกกฎระเบียบปฏิบัติ และคู่มือรายละเอียดที่ชัดเจน ขณะที่ ปตท.ในฐานะเจ้าของท่อก๊าซ ก็เริ่มจัดทำเงื่อนไขในการใช้ท่อก๊าซแล้ว ซึ่งการเปิดแข่งขันแบบเสรีคงไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะใช้ก๊าซในราคาที่ถูกที่สุด แต่จะเป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจากผ่านกลไกตลาดที่ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และกำหนดราคาที่เป็นธรรม ไม่ค้ากำไรเกินควร ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ที่ใช้ก๊าซ
สำหรับ กฟผ.ก็สามารถเข้ามาแข่งขันในเวทีดังกล่าวได้เช่นกัน ทั้งในฐานะของผู้ซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือผู้ให้บริการสถานีแปลงสภาพ LNG เนื่องจากในอนาคตเชื่อว่าการแข่งขันในธุรกิจก๊าซจะแข่งขันกันที่ LNG เป็นหลัก ซึ่งจะหาจากแหล่งต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยมีปัจจัยที่เกื้อหนุน คือ จะมีกำลังผลิตก๊าซเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เมื่ออเมริกาเปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าก๊าซเป็นผู้ส่งออกก๊าซ หลังจากที่มีเทคโนโลยีในการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากชั้นหินดินดาน(Shale Gas) มาใช้ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ มีการส่ง Shale Gas ไปขายในยุโรปแล้ว จึงเป็นการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของรัสเซีย ส่งผลให้รัสเซียเตรียมหาทางออกด้วยการหาตลาดแถบเอเชีย ไทยจึงน่าจะสามารถหาก๊าซ LNG ในราคาที่ต่ำลงได้ในอนาคต
ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าทั้งรายใหญ่และรายเล็ก จึงถือเป็นโอกาสของ กฟผ.ที่เพิ่มบทบาทเป็นผู้ซื้อขายก๊าซเอง เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง เพิ่มความมั่นคงและความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับภูมิภาค