กสิกรฯ คาดสินเชื่อปี 56 โตกว่า 10% แม้ H2 ชะลอ มองโครงการลงทุน-ดบ.ต่ำหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 26, 2013 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 56 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับร้อยละ 12.23 ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยแรงส่งจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงท้ายปีงบประมาณ 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปีงบประมาณ 2557 และการลงทุนในโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งน่าจะเริ่มมีการเบิกจ่ายเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายปี 2556 ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแล้ว ก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อในปี 2556 นี้ให้สามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยคงขยายตัวได้ในอัตราที่ระมัดระวังมากขึ้น สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการสินเชื่อของหลายธนาคารในช่วงที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลงตามปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ภายในประเทศที่ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของทางการสิ้นสุดลง ผนวกกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและภูมิภาคอาเซียนที่ส่งสัญญาณการชะลอตัว

ด้วยสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะถัดไปที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เดินหน้าลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงปลายปี 2556 ตามกรอบเวลาที่ระบุไว้หลังการประชุมครั้งล่าสุด และยุติมาตรการ QE ในช่วงกลางปี 2557 แล้ว คงทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยแต่ละแห่งเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศจะไม่ใช่แหล่งระดมเงินทุนหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย อีกทั้งสภาพคล่องของธนาคารในองค์รวมยังน่าจะเพียงพอต่อการขยายตัวของธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อ ท่ามกลางสภาพคล่องส่วนเกินของระบบการเงินไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง ดังสะท้อนได้จากยอดคงค้างพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 3.18 ล้านล้านบาท

ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวคงมีผลกระทบต่อความต้องการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในบางภาคส่วน

"การเติบโตของสินเชื่อในอัตราที่ชะลอลงดังกล่าว คงส่งผลให้ความต้องการใช้สภาพคล่องโดยรวมของธนาคารพาณิชย์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556 ลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ส่วนประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คงได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และท่าทีของเฟดในการทยอยลดมาตรการ QE รวมถึงทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยซึ่งผูกโยงกับความต่อเนื่องของการลงทุนจากภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคส่งออก เนื่องจากคงจะมีผลเกี่ยวโยงมาถึงการขยายตัวของสินเชื่อ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงความต้องการระดมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ