In Focusวิกฤตสภาพคล่องจีน ปฐมบทแห่งความท้าทายของรัฐบาล "สี จิ้นผิง"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 26, 2013 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่การประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เสร็จสิ้นลงเมื่อวันพุธที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ดิ่งเหวแบบเทกระจาด เมื่อนายเบน เบอร์นันเก้ หัวเรือใหญ่ของเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณแบบค้านกับมติของคณะกรรมการเฟดว่า เฟดจะลดขนาดโครงการ QE ในปีนี้ หากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น และจะยุติ QE ทันทีในปีหน้าหากพบว่าเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ลมปากของท่านประธานเฟดได้ทุบตลาดหุ้นร่วงลงอยู่หลายวันติดต่อกัน จนกระทั่งนายพอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์สัญชาติเดียวกันต้องออกมาปรามว่า เบอร์นันเก้ส่งสัญญาณผิดอย่างมหันต์ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังอ่อนแออยู่มาก แถมยังฝากการบ้านให้กลับไปขบคิดว่า การที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงย่ำแย่อยู่นี้ ก็เพราะเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและลืมไปว่า การสร้างงานเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดของพวกเขา

... จากนั้นตลาดหุ้นก็เริ่มรีบาวด์ตามกลไกตลาดหลังจากที่ร่วงหนักไปหลายวัน นักลงทุนสบายอกสบายใจได้แค่วันเดียว ก็ต้องตกตลึงกับกระแสข่าวที่ว่า ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่าง "จีน" กำลังเผชิญกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว ในขณะที่ธนาคารกลางจีนเองก็ยืนยันที่จะไม่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพราะต้องการควบคุมสินเชื่อบางประเภท โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เพราะเกรงว่าจะเกิดฟองสบู่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนปฏิบัติตนไม่ต่างจากประเทศมหาเศรษฐี มีเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่สามารถนำมาเนรมิตรสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ซูเปอร์ไฮเวย์ แต่ความจริงก็คือว่าเงินทุนก้อนมหึมาที่จีนใช้ในการลงทุนส่วนใหญ่มาจากการกู้โดยสถาบันการเงินและรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้นมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง การวิ่งวุ่นหาเงินมาใช้คืนหนี้เงินกู้จึงต้องคราวติดขัด และเกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

หลายสิบปีที่ผ่านมา การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนได้แรงหนุนจากการทุ่มลงทุน เพราะสินเชื่อสามารถหาได้ทั่วไปและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าหนี้สินนอกภาคการเงินของจีนมีสูงถึง 200% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ และกำลังถูกผ่องถ่ายไปยังผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งนอกระบบและกองทุนทรัสต์ ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ของจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง พยายามจะชะลอการปล่อยกู้

รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า เสถียรภาพของการเติบโตที่แท้จริงควรมาจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ตรงข้ามกับการเติบโตในยุคที่ผ่านมาซึ่งเป็นการโตแบบกลวงๆ อันเนื่องมาจากการลงทุนแบบเก็งกำไรที่หวังผลในระยะสั้นๆ และจากการพองตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของนายสี จิ้นผิง จึงต้องทำการ "ผ่าตัดโครงสร้าง" ขนานใหญ่ ด้วยการยึดนโยบายการคลังที่มีวินัย และคงต้องยอมให้ทุกภาคส่วนภายในประเทศต้อง "เจ็บปวด" ในระยะสั้นจากการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะปล่อยให้เป็น "โรคเรื้อรัง" จากวิกฤตเศรษฐกิจในระยะยาว

... แต่จีนคงลืมไปว่า ไม่ใช่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนของจีนเท่านั้นที่จะเจ็บปวดจากการตัดสินใจผ่าตัดครั้งใหญ่นี้ แต่ประเทศเพื่อนบ้าน และชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ ก็ต้องพลอยบาดเจ็บไปตามกัน นั่นเพราะจีนเป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่ที่ใครๆต่างก็ฝากอนาคตไว้ เมื่อสภาพคล่องของจีนถูกบีบรัด บรรดาประเทศคู่ค้าก็ต้องอกสั่นขวัญหายเป็นธรรมดา

แม้ว่าธนาคารกลางจีนพยายามจะออกมาสยบกระแสความตื่นตระหนกด้วยการพูดหลวมๆว่า สภาพคล่องในระบบการเงินของจีนมีมากพอและจีนสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ นอกจากนี้ จีนยังเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์พุ่งอย่างรุนแรงนั้น จะค่อยๆหมดไปในไม่ช้า และธนาคารกลางจะจับตาดูอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

แต่นักลงทุนในตลาดการเงินกลับไม่เชื่อในคำพูดดังกล่าว และกลับมีความวิตกกังวลมากขึ้นว่า หากภาคธุรกิจของจีนขาดแคลนสภาพคล่องและขาดแหล่งเงินทุน ก็จะยิ่งทำให้อันจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงไปอีก หลักฐานสดๆร้อนๆในวันนี้ก็คือดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวซึ่งปิดตลาดร่วงลง 135.33 จุด หรือ 1.04% แตะที่ 12,834.01 จุด เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าจีนจะเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องตึงตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ทางการจีนพยายามออกมาเคลื่อนไหวเพื่อผ่อนคลายความตื่นตระหนกในตลาดก็ตาม

วิกฤตสภาพคล่องที่แทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับยักษ์ใหญ่ใจถึงอย่างจีน ถือเป็นบททดสอบความสามารถบทแรกสำหรับผู้นำจีนคนใหม่อย่างนายสี จิ้นผิง ที่จะพิสูจน์ว่าเขาจะสามารถฝ่ามรสุมลูกใหญ่ลูกนี้ไปได้อย่างสมกับคำว่า "สีทนได้" หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ