นอกจากนั้น ยังให้เร่งรัดทำความเข้าใจแก่เกษตรกร คิดวิเคราะห์ตนเองร่วมกันในเรื่องการความเหมาะสมของผลิต ต้นทุน รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ควรจะเป็น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสร้างการเปลี่ยนแปลงการผลิตในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพตลาด สร้างแรงจูงใจคู่ขนานผ่านกลไกคอนแทคฟาร์มมิ่ง และขับเคลื่อนคลัสเตอร์สินค้าเกษตร
ตลอดจนการให้ข้อมูลการตลาด ปริมาณและคุณภาพที่นำไปสู่การผลิตตามความต้องการของตลาดทุกๆ ไตรมาส เพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญที่เกษตรกรจะต้องนำมาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจบริหารกิจการฟาร์มของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป้าหมายคือการจัดการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยในปีนี้จะเร่งดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าว 500,000 ไร่
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการในสังกัดประสานอย่างเคร่งครัดไปยังส่วนภูมิภาคให้เร่งเข้าเยี่ยมเกษตรกร ทำความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ และร่วมกันบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อมิให้สินค้าเกษตรล้นตลาดนำไปสู่การขาดทุนและการเป็นหนี้ของเกษตรกร หากทุกคนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และภาคประชาชน เข้าใจและช่วยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้เกษตรกรบริหารต้นทุนการผลิตข้าวเพื่อให้สร้างความสามารถในการรองรับราคาตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยส่งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในระดับตำบลหมู่บ้านเข้าเยี่ยมพบปะเกษตรกรรายแปลง ให้ข้อมูลการบริหารต้นทุนด้านปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต และผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน
หากเกษตรกรมีความเข้าใจและดำเนินการผลิตตามหลักวิชาการ เช่น การใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวในปริมาณที่เหมาะสม คือ 5 - 20 กิโลกรัมต่อไร่ ตามประเภทของการปลูก การเตรียมดินที่ดีลดการเผาตอซังจะลดปัญหาวัชพืชในแปลงนา เกษตรกรจะประหยัดค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรในปริมาณ ชนิด ที่เหมาะสมกับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการธาตุอาหารของพืช เกษตรกรจะประหยัดอีกได้ร้อยละ 50 ของที่เคยใช้จ่ายไป และในที่สุดผลผลิตที่ได้รับจะมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีผลกำไรในระดับที่เหมาะสมต่อคุณภาพชีวิตที่ดีไม่มีปัญหาสุขภาพจากสารเคมี