(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยพ.ค.ส่งออกหด 5.25% นำเข้าลด 2.14% ขาดดุลฯ 2,304 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 26, 2013 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ค.56 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 19,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.14% ส่งผลให้ขาดดุลการค้าราว 2,304 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.56) การส่งออกมีมูลค่า 94,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.56% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 108,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.70% ส่งผลให้ขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในเดือน พ.ค.นี้ ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และมีความผันผวนมาก ส่งผลกระทบต่อการวางแผนผลิตและการรับคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ, สินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดในกุ้ง ทำให้ผลผลิตลดลง, สินค้าข้าว ประเทศคู่แข่งมีแนวโน้มส่งออกมากขึ้น และประเทศคู่ค้ามีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้า

รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ EU ส่งผลต่อการส่งออกไก่สดแช่แข็ง และมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น การส่งออกผลไม้ไปอินโดนีเซีย, เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลต่อความต้องการสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวมลดลง 16.4 % โดย ข้าว (-26%) ยางพารา (-22%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-1%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) (-5.2%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป (-38.6%) ผักและผลไม้ (-8.8%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป (-10%) น้ำตาล (-31%)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญภาพรวมลดลง 0.9% โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (-14.5%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-4.9%) อัญมณี (ไม่รวมทองคำ) (-2.3%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ (-4.8%) อาหารสัตว์เลี้ยง (-4.9%) สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+3.9%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก (+3.6%) สิ่งทอ (+8.4%) วัสดุก่อสร้าง (+8%) ทองคำยังไม่ขึ้นรูป (+182%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+4.1%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า (+0.8%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (+9.4%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ (+4.9%) เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน (+5.7%) นาฬิกาและส่วนประกอบ (+25.2%) ของเล่น (+23.9%)

ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆ ภาพรวมลดลง 8.4%

ขณะที่เมื่อแยกรายตลาด พบว่า การส่งออกลดลงทุกตลาด โดยตลาดหลักภาพรวมลดลง 8.8% โดย ญี่ปุ่น (-7.6%) สหรัฐอเมริกา (-6.9%) สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ (-12.1%)

ขณะที่ ตลาดศักยภาพสูง ภาพรวมลดลง 4.3% โดยตลาดที่ลดลง ได้แก่ อาเซียน(9) (-1.2%) [อาเซียนเดิม (5) (-4.1%) อินโดจีนและพม่า (+5.6%)] จีน (-16.3%) เอเชียใต้ (8) (-2.4%) ไต้หวัน (-12.2%) ส่วนตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง (+1.1%) เกาหลีใต้ (+23.1%)

และตลาดศักยภาพระดับรอง ภาพรวมลดลง 2.1% โดย ตลาดที่ลดลง ได้แก่ ตะวันออกกลาง (-15.8%) ทวีปแอฟริกา (-9.6%) แคนาดา (-17.2%) ตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย (+16.7%) ลาตินอเมริกา (+1.5%) สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ (+6.7%) รัสเซียและCIS (+15.5%) นอกจากนี้ ตลาดอื่น ๆ ภาพรวมลดลง 5.6 % โดยสวิตเซอร์แลนด์ (-28.3%)

ในด้านการนำเข้า หมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดเชื้อเพลิง (+4.1%) [น้ำมันดิบ (-1.9%) ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม (+9.4%) น้ำมันสำเร็จรูป(+46.9%)] หมวดอุปโภค/บริโภค (+7.5%) [เครื่องใช้ไฟฟ้า (+13.4%) ผลิตภัณฑ์เวชกรรม (-17.8%) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (+13.4%) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่ง (+15.3%)] หมวดอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ (+54.1%)

หมวดสินค้าที่ลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าทุน (-1.9%) [เครื่องจักรกล (-15.9%) เครื่องจักรไฟฟ้า (-9.6%) เครื่องคอมพิวเตอร์ (-18.7%) เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์ (+421.2%) เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ (+112.5%)] หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป (-7.1%) [เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (+10.3%) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ (-11.9%) ทองคำ (-16.8%) เคมีภัณฑ์ (-13.4%) ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (-16%)] หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-3.7%) [ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (+2.2%) รถยนต์นั่ง (-36%) ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน (+10.6%) รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก (-56.2%)]

ปัจจัยที่มีผลต่อนำเข้า ประกอบด้วย การนำเข้าที่ลดลงในหมวดสินค้าทุน วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ได้แก่ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์นั่ง เป็นต้น, การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในสินค้าเชื้อเพลิง เหล็ก เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจก่อสร้างและอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งการนำเข้าเครื่องบินและแท่นขุดเจาะน้ำมันของภาคเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ