คดีดังกล่าวนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา รวม 45 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ และสั่งให้ร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของคำพิพากษา ระบุว่า.."ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามที่มาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงและดำเนินการให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่และแผนงาน (Module)"
"เมื่อพิจารณารายละเอียดของการดำเนินการตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน(TOR)ตามโครงการเพื่ออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่าหากมีการดำเนินตามโครงการดังกล่าวจริงย่อมต้องมีการใช้พื้นที่จำนวนหนึ่งในการก่อสร้าง ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่ป่าไม้ บางส่วนเป็นที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยและใช้ประกอบอาชีพ ทำให้เข้าลักษณะเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ
ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรภาคเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินดังกล่าว"คำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุ
อนึ่ง ในการตัดสินคดีดังกล่าวมีตุลาการเสียงข้างน้อย 2 รายจากทั้งหมด 6 ราย มีความเห็นแย้งกับตุลาการเสียงส่วนใหญ่
ด้านนายวิทยา ผลประไพ ผู้อำนวยการ สำนักงานเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.)กล่าวว่า จะนำคำพิพากษากลับไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งมองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายต่อแผนงาน เพราะโครงการยังไม่ได้เกิดขึ้น เพียงแต่ศาลได้กำชับให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายให้ครบถ้วน ทั้งการรับฟังความเห็นของประชาชน และทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของการรับฟังความเห็นนั้น ศาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง เนื่องจากหากให้เอกชนที่เป็นผู้ชนะประมูลในแต่ละโมดูลเป็นผู้ดำเนินการก็อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ผลการศึกษาไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปกติจะกำหนดดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ซึ่งจะต้องไปดูรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความเห็นฯ และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็จะดำเนินการต่อไป