(เพิ่มเติม) เงินบาทเปิด 31.14/16 ทรงตัวจากวานนี้ จับตา Flow สิ้นเดือน-ลุ้นผ่านแนวต้าน 31.20

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์ หลังจากนั้นเงินบาทก็ขยับขึ้นไปทำ High ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์
"เรียกได้ว่าเงินบาทอ่อนค่าขยับตามดอลลาร์ เพราะดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทองคำหรือออสซี่ แต่วันนี้ยังต้องติดตาม Flow ช่วงสิ้นเดือน เพราะนอกเหนือจากประเด็นนี้ไม่มีประเด็นหลักที่จะ Drive ตลาดไปทางไหนแรงๆ และต้องจับตาแนวต้าน 31.20 บาท/ดอลลาร์ เพราะขึ้นมาทำ High 2-3 ครั้งแล้ว อาจจะเป็น Triple Top และเงินบาทอาจจะลงมาทดสอบระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์ได้อีกครั้ง"

นักบริหารเงิน คาดว่า สำหรับวันนี้เงินบาทจะยัง sideway โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ 31.00-31.20 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุด SPOT อยู่ที่ 31.1700 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ 2.18228%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เช้านี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 98.70 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 98.40 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3066 ดอลลาร์/ยูโร จากวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 1.3010 ดอลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.วันนี้อยู่ที่ 31.1070 บาท/ดอลลาร์
  • นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ธปท.อาจพิจารณาทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตในระดับ 7.5% หลังจากล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค.ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดไว้เล็กน้อย โดยมูลค่าส่งออกหดตัวราว 5% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอการขยายตัวลง และธปท.จะนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)พิจารณาในวันที่ 10 ก.ค.
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หั่นจีดีพีทั้งปีโต 4.5% จากเดิม 4.8% เหตุผวาเศรษฐกิจโลก-ประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว ประกอบกับการใช้จ่าย-ลงทุนเอกชน ส่งสัญญาณหดตัวอย่างชัดเจน ระบุรัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าเบิกจ่ายลงทุนโครงการน้ำ-โครงสร้างพื้นฐาน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชาติผงกหัว ขณะที่เศรษฐกิจ พ.ค.ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
  • นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวขึ้นได้ดีอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาแรง ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาดูที่มูลค่าของตลาดมากกว่า จากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาไม่ดีนักทำให้ แนวโน้มผลตอบแทนจากพันธบัตรจะมีการเหวี่ยงตัวลง หลังจากมีการคาดการว่ามาตการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) สหรัฐ จะไม่ชะลอหรือหยุดในระยะเวลาอันใหล้นี้ รวมถึงราคาทองที่มีการปรับตัวลดลง จะทำให้เม็ดเงินดังกล่าวที่ออกมานั้นจะเคลื่อนย้ายมาอยู่ในตลาดหุ้นมากขึ้น พร้อมให้กรอบแกว่งไว้ที่ แนวรับ 1,430 จุด และแนวต้าน 1,475 จุด
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงร่วงลง 480 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 11,100 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง ราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,200.72 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 51.92 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.76 ดอลลาร์ฮ่องกงในวันนี้
  • ผลสำรวจของบริษัทวิจัย GfK ระบุว่าผู้บริโภคชาวอังกฤษมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในเดือนมิ.ย. โดนดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นแตะ -21 จาก -22 ในเดือนพ.ค. โดยตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (27 มิ.ย.) ทำสถิติปิดบวกติดต่อกัน 3 วันทำการ ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค

ดัชนี Stoxx 600 เพิ่มขึ้น 0.7% ปิดที่ 286.42 จุด, ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,243.40 จุด เพิ่มขึ้น 77.92 จุด หรือ +1.26% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 7,990.75 จุด เพิ่มขึ้น 49.76 จุด หรือ +0.63% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 3,762.19 จุด เพิ่มขึ้น 36.15 จุด หรือ +0.97%

  • หุ้นสหรัฐเดินหน้าขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้ หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. ลดลง 9,000 ราย มาอยู่ที่ 346,000 ราย หลังจากที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานการใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. เพราะได้ปัจจัยหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น นับเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสนี้จะขยายตัวขึ้น เพราะการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% หรือสองในสามของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า รายได้ส่วนบุคคลปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. หลังจากที่ขยับขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ ตลาดจับตาดูถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐหลายคน ซึ่งรวมถึงวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟด นิวยอร์ก และเดนนิส ล็อกฮาร์ท ประธานเฟด แอตแลนต้า ซึ่งอาจให้ความชัดเจนมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะทำอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากข้อมูลจีดีพีที่อ่อนแอเกินคาดเมื่อวานนี้ได้ช่วยจุดประกายความหวังว่าเฟดอาจยังไม่ลดหรือยุติการซื้อพันธบัตรในเร็วๆนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ