การส่งออกของไทยขยายตัวน้อยกว่าที่คาด โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีการส่งออกขยายตัวได้เพียง 1.9% โดยปัจจัยหลักคือการส่งออกไปจีนที่หดตัวจากความต้องการสินค้าขั้นกลางในภาคการผลิตของจีนที่ลดลง แม้ว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ในภาพรวมจะขยายตัวได้อย่างจำกัดในปีนี้
ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มแผ่วลงในช่วงหลังของปีภายหลังจากที่รถยนต์ส่วนใหญ่ภายใต้นโยบายรถคันแรกได้ส่งมอบไปแล้วในครึ่งปีแรก อีกทั้งความผันผวนของราคาสินทรัพย์จากแนวโน้มเงินทุนไหลออก และการลดราคารับจำนำในโครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐ จะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยปี 56 จะอยู่ที่ราว 2.6% และ 1.3% ตามลำดับ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯ มองว่า แรงกดดันด้านราคาในครึ่งปีหลังยังคงมีน้อยจากราคาพลังงานในประเทศที่ยังคงทรงตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและมาตรการดูแลค่าครองชีพจากภาครัฐ รวมถึงการบริโภคที่น่าจะยังคงชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ดี แผนการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนในช่วงเวลาที่เหลือของปียังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออยู่
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 56 คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ 2.50% จนถึงสิ้นปี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับลดลงเพิ่มเติมหากการใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ภาวะเงินทุนไหลออกจากการส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (การลดขนาด QE) จะไม่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤติดุลการชำระเงิน
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มการบริโภคภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อาจมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หากปรากฏว่าการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวต่ำกว่าที่คาดในช่วงที่เหลือของปี
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่า ค่าเงินบาทจะยังคงผันผวนจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะสั้นเป็นอย่างน้อย การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณว่าอาจลดขนาด QE ภายในสิ้นปีนี้ เป็นผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ไปยังสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงใกล้เคียงเงินสด (Near cash assets) ทั้งนี้ คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 56