ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ค.ชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคเอกชน-ส่งออกหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจในเดือน พ.ค.ชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว 0.2% สอดคล้องกับการส่งออกที่หดตัว 5.1% เป็นไปตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐค่อย ๆ ทยอยสิ้นสุดลง เช่น โครงการรถคันแรก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศที่ผ่านพ้นไปแล้ว รวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอลงเนื่องจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การลงทุนยังหดตัว 3.3% ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรที่ลดลง โดยเฉพาะการนำเข้าของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ชะลอลงตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศที่หันไปใช้แท็บเล็ตมากกว่าพีซี และอุตสากรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีฐานในปี 55 ที่ขยายตัวสูงในช่วงฟื้นฟูการผลิตหลังน้ำท่วม ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหลายรายย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกกุ้งก็เกิดปัญหาเรื่องโรคระบาด และการปิโตรเลียมหดตัวมากจากปิดซ่อมโรงกลั่น 2 แห่ง

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า การใช้จ่ายที่ชะลอลงจากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นนั้น ยังคงต้องติดตามดูว่าจะฉุดการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลงแค่ไหน รวมถึงธนาคารพาณิชย์จะกังวลในแง่ของการปล่อยสินเชื่อมากแค่ไหนด้วย

ทั้งนี้ ธปท.จะนำข้อมูลการชะลอตัว เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ทบทวนปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค.พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่จะต้องติดตามว่ามีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะ ธปท.มองในมุม conservative พอสมควร ส่วนคำตัดสินของศาลปกครองในคดีการบริหารจัดการน้ำคงจะกระทบกับเศรษฐกิจบ้าง

สำหรับกรณีค่าเงินบาทผันผวนนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร่วมกันจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาตลาดเงินก็ค่อนข้างมีปฏิกิริยาต่อการที่ธนาคารสหรัฐ(เฟด)จะชะลอและยุติมาตรการ QE ไปมากแล้ว ประกอบกับ ก่อนหน้านี้ไทยก็มีข่าวว่าจะมีมาตรการออกมาควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ทำให้นักลงทุนอ่อนไหวกับมข่าวอย่างนี้พอสมควร ระยะต่อไปประเมินว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีทิศทางผันผวน

ธปท.ระบุว่า การส่งออกครึ่งปีหลังภาพรวมน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การบริโภคน่าจะทรงตัวไม่หวือหวา ส่วนหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ธปท.ก็ไม่ได้กังวล เพราะหนี้ครัวเรือนหดตัวลงแล้ว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือน พ.ค.ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 12% จาก 12.6% ในเดือนก่อน เนื่องจากสินเชื่อครัวเรือนชะลอลง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจทรงตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ