กิจกรรมสำคัญคือ การเยือนนิคมอุตสาหกรรมมิงกาลาดอน ในนครย่างกุ้ง เพื่อสำรวจสภาพและความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมมิงกาลาดอนที่มีแผนพัฒนาขยายนิคมอุตสาหกรรมเฟสที่ 2 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้สนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์พลาสติก และเครื่องหนัง พร้อมเยี่ยมชมกิจการของคนไทย 2 รายใหญ่ในสหภาพเมียนมาร์ ได้แก่ ซี.พี. และมาม่า หลังจากนั้นจะเดินทางไปเมืองมัณฑะเลย์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสการค้าการลงทุนกับสมาชิกหอการค้ามัณฑะเลย์ และสำรวจตลาดขายส่ง — ขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเมียนมาร์
"ที่ผ่านมาบีโอไอได้จัดคณะผู้ประกอบการไปเยือนพม่าหลายครั้ง เพื่อดูลู่ทางลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร สิ่งทอ อาหาร และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่กิจกรรมครั้งนี้เราจะเน้นไปที่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนพม่ามาก ตั้งแต่มัณฑะเลย์ลงมาถึงย่างกุ้งจะเป็นสินค้าไทย หากเป็นพื้นที่ตอนบนจะเป็นสินค้าจากจีนที่ได้รับความนิยม และในอนาคตการลงทุนจากไทยที่เข้าไปในพม่าจะเริ่มเป็นการผลิตเพื่อส่งออก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องใช้แรงงานมาก" นายเจษฎากล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์พัฒนานักลงทุนไทยไปต่างประเทศ หรือ TOISC ของบีโอไอ ระบุว่า พม่าได้ถูกกำหนดเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ 1 ใน 4 แห่ง นอกจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และแอฟริกา ที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุน เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแรงงาน มีตลาด ทั้งยังมีชายแดนติดต่อกับไทยยาวกว่า 1,800 กิโลเมตร ซึ่งหากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ถือว่า พม่ามีปัจจัยการผลิตพร้อม มีศักยภาพในการพัฒนาสูง แม้รายได้ต่อหัวประชากรยังต่ำ แต่ถ้าเปิดประเทศเต็มตัวแล้วการเติบโตจะรวดเร็วมาก ที่สำคัญอำนาจการซื้อก็จะเพิ่มขึ้น
สำหรับสถิติของผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในพม่า ตั้งแต่ปี 2550 -2555 พบว่า ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนเป็นอันดับ 1 มูลค่าการลงทุน 5,970 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 2 ประเทศสิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน 3,708 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับ 3 ประเทศฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 2,639 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม ประมง อาหารทะเล และค้าส่ง ค้าปลีก